ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาขยะพลาสติก ทำลายสิ่งแวดล้อมในเอเชีย


ในยุคสมัยที่มีการใช้พลาสติกทั่วไปนั้น มีขยะพลาสติกเป็นปริมาณมากมายท่วมท้นตามที่ทิ้งขยะในประเทศต่างๆ ในเอเชีย และไหลหลุดไปอยู่ในทะเลและเป็นอันตรายต่อสัตว์และพืชในน้ำ

ตอนนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้ประกอบกิจการต่างๆ กำลังพยายามดำเนินงานในการแปรรูปพลาสติกให้กลับสู่สภาพสารประกอบเดิม คือ น้ำมัน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิค มีขยะพลาสติกสุมอยู่มากมายก่ายกองเป็นบริเวณกว้างขวางใหญ่โตขนาดราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่รัฐเท็กซัส หรือราว 1 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศไทย คิดเป็นน้ำหนักรวมแล้วราว 300 ล้านตัน และกำลังเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล นอกจากนั้น กระแสน้ำในมหาสมุทรยังมีขยะจากบริเวณตอนเหนือของเอเชีย และตอนเหนือของทวีปอเมริกาอีกด้วย

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง กับบรรดาผู้ประกอบกิจการจากฮ่องกง จากรัฐคาลิฟอร์เนียในสหรัฐ และจากกรุงลอนดอน จัดตั้งโครงการ Kaisei ขึ้นมาเพื่อแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงดีเซล คำว่า Kaisei เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า "โลกมหาสมุทร"

Doug Woodring หัวหน้าโครงการนี้กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่พลาสติกไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่กลับสู่ธรรมชาติ แม้จะแตกสลายมีขนาดเล็กลง แต่เศษที่เหลืออยู่ยังเป็นอันตราย เพราะเหล่านก ปลา ปู เต่า สัตว์น้ำทั้งหลายมากินโดยนึกว่าเป็นอาหาร ด้วยเหตุนี้ จึงมีปัญหามากมายด้านสุขภาพ หรือสภาพของมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตในทะเล

โครงการไคเซอี จะนำเรือออกไปยังบริเวณที่นักวิจัยเรียกกันว่า "วังวนขยะพลาสติค" เพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับชีวิตในทะเล ปัญหาความเป็นพิษของสารต่างๆ ตลอดจนวิธีการกำจัดขยะพลาสติกในบริเวณนั้น

Doug Woodring กล่าวว่า มีเทคโนโลจีใหม่ๆ ที่สามารถแปรรูปขยะเหล่านั้นให้เป็นเชื้อเพลิงดีเซลได้ และว่าอย่างน้อย ก็จะทำให้มีช่องทางที่จะเก็บกวาดขยะพลาสติกในทะเลได้ในเวลาต่อไป หากสามารถนำเรือขนาดใหญ่ และแหอวนหรือตาข่ายขนาดใหญ่ออกไปยังบริเวณนั้นได้

ในประเทศไทยนั้น มีการดำเนินงานแปรรูปขยะพลาสติกร่วมกับเทศบาลจังหวัดระยอง ซึ่ง บริษัท Single Point Energy and Environment กำลังแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงเหลวแล้วขายให้แก่โรงกลั่นน้ำมัน

ดร. สันติวิภา พานิชกุล นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทนี้กล่าวว่า เทคโนโลจีนี้ จะย่อยโมเลกุลขยะให้เป็นน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นการแปรรูปพลาสติกให้กลับสู่สภาพหรือรูปเดิม ในแต่ละวันโรงงานนี้สามารถแปรรูปขยะพลาสติกได้ถึง 10 ตัน ให้ออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนำมาใช้กับเครื่องจักรกล รถมอเตอร์ไซค์ และระบบทำความร้อนได้โดยตรง

ดร. สันติวิภา พานิชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท Single Point Energy and Environment กล่าวว่า ตั้งใจที่จะพยายามให้รัฐบาลรับดำเนินนโยบายการแปรรูปขยะพลาสติก ให้เป็นพลังงาน เพราะประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากมาย ปีละราว 2 ล้าน 5 แสนตันเป็นอย่างน้อย

หลังจากได้รับการเตือนจากบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังเริ่มเข้ามาดำเนินการกับปัญหาขยะพลาสติก ฮ่องกงเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกใส่ของประเทศไทยกำลังศึกษาพิจารณาการเก็บภาษีพลาสติกที่ทำจากน้ำมัน และรัฐบาลของอีก 2–3 ประเทศกำลังดำเนินงานแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงโดยตรง

ดร. สันติวิภา พานิชกุล กล่าวว่า แม้ว่าเครื่องแปรรูปขยะพลาสติกเครื่องหนึ่งๆ จะราคาค่อนข้างสูง คือตกราวเครื่องละ 2 ล้านดอลลาร์ แต่เทศบาลในสองเขตในประเทศไทย กำลังใช้เทคโนโลจีของบริษัทนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียเต็มใจที่จะยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น


XS
SM
MD
LG