ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มผู้ประท้วงตามท้องถนนในอิหร่าน ลดจำนวนลง หลังการปราบปรามครั้งใหญ่


กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากที่เริ่มเดินขบวนตามท้องถนน ในกรุงเตหะรานเพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในช่วงแรกนั้น ได้ลดจำนวนลงหลังจากเผชิญกับการปราบปรามครั้งใหญ่ตามมาตรการยืนหยัดไม่ประนีประนอมของรัฐบาลอิหร่าน แต่นักวิเคราะห์หลายคนแสดงทัศนะว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกิดรอยแยก ในกลุ่มผู้นำอันดับสูงของอิหร่าน

หลังจากที่ประธานศาลฎีกาของอิหร่าน Ayatollah Ali Khamenei ได้ ประกาศว่าประธานาธิบดี Mahmoud Ahmadinejad เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเหนือคู่แข่งคือนาย Mir Hossein Mousavi ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน รัฐบาลอิหร่านก็เตรียมการครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วง โดยมีการเดินขบวนของกลุ่มคนเล็กๆ หลายกลุ่มที่ไม่พอใจการเลือกตั้งซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้น แต่ก็ถูกทางการอิหร่านปราบปรามอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนการประท้วงนั้นขาดพลังขับเคลื่อนเพียงพอ คุณ Karin Sadjapour นักวิเคราะห์แห่งกองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศให้ทัศนะว่า การข่มขู่ของรัฐบาลและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเตหะรานที่ขยายตัวออกไปรอบนอก คือปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการรวมกลุ่มของผู้ประท้วง

นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่าจริงๆ แล้วผู้ต่อต้านอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลอิหร่านใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเหล่านั้นรวมตัวกันได้ในพื้นที่ใหญ่ๆ สิ่งที่เห็นจึงเป็นกลุ่มผู้ประท้วงเล็กๆตามจุดต่างๆในกรุงเตหะราน ซึ่งง่ายกว่าสำหรับการใช้กองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าควบคุม ในขณะที่คุณ Abbas Milani ผู้อำนวยการด้านอิหร่านศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford เชื่อว่าการประท้วงสงบลงไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวตามกลยุทธ์หรือสะท้อนให้เห็นถึงความเหนื่อยล้าของประชาชน แต่ทางด้านคุณ Reva Bhalla จากองค์กรข่าวกรองเอกชน Stratfor บอกว่า การประท้วงค่อยๆ สลายตัวไปเนื่องจากไม่สามารถดึงผู้คนจากกลุ่มอื่นๆ นอกจากกลุ่มหนุ่มสาวที่มีการศึกษา ให้มาเข้าร่วมได้จำนวนมากพอ

คุณ Bhalla วิเคราะห์ว่า เพราะไม่มีกลุ่มทางสังคมขนาดใหญ่อื่นๆ เข้าร่วมในการประท้วง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มสหภาพแรงงานหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนา และที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Ahmadinejad พยายามสนับสนุนกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนของอิหร่านทั้งประเทศ

รายงานบางฉบับระบุว่านาย Mir Hossein Mousavi ได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการประท้วงหยุดงาน แต่ก็ยังไม่มีการหยุดงานเกิดขึ้น บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่าการประท้วงหยุดงานจะช่วยแสดงพลังของชนชั้นพ่อค้านักธุรกิจที่อาจทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ แต่หากแผนนี้ล้มเหลวก็จะก่อความเสี่ยงมากเช่นกัน ในขณะเดียวกัน อาจารย์ Abbas Milani กล่าวว่าการที่ประธานศาลฎีกา Khamenei ออกมายืนยันผลการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่แล้วนั้น เป็นการถือพรรคถือพวกและเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตการเมืองของประธานศาลฎีกาผู้นี้ จนอาจส่งผลให้เส้นทางการเมืองและบทบาทผู้นำทางจิตวิญญาณของเขาต้องยุติลง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อด้วยว่า ขณะนี้กำลังเกิดการปะทะทางการเมืองอย่างรุนแรงในหมู่ผู้นำระดับสูงของอิหร่าน นำโดยอดีตประธานาธิบดี Ali Akbar Hashemi Rafsanjani ศัตรูคนสำคัญของประธานาธิบดี Ahmadinejad ซึ่งอาจารย์ Milani แห่งมหาวิทยาลัย Stanford บอกว่านั่นจะเป็นผลดีสำหรับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ไม่เวลานี้ก็ในอนาคต

นักวิเคราะห์ทางตะวันตกบางคน เชื่อมโยงเหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้เข้ากับการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 ซึ่งนักหนังสือพิมพ์ Hooman Majd ให้ความเห็นว่า ชาวต่างชาติเข้าใจการประท้วงครั้งนี้แบบผิดๆ และมองการประท้วงที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองแบบตะวันตก ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าแม้จะมีรอยร้าวในกลุ่มผู้นำของอิหร่าน แต่นั่นก็ไม่ใช่สัญญาณว่ารัฐบาลกรุงเตหะรานจะแตกแยกกันแต่อย่างใด


XS
SM
MD
LG