สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นที่สนใจทั่วโลก หนังสือพิมพ์รายใหญ่ในอเมริกาทุกฉบับมีรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย รวมทั้งภาพแสดงเหตุการณ์ประท้วง
ในขณะเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีถ้อยแถลงเกี่ยวกับประเทศไทยออกมาทั้งที่แสดงความห่วงกังวล และการอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ตามประเพณีไทย
รัฐมนตรี Hillary Clinton ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มีถ้อยแถลงออกมาที่กรุงวอชิงตัน ในเช้าวันจันทร์ที่ 13 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสงกรานต์ ขออวยพรให้ประชาชนชาวไทยมีความสุขเนื่องในโอกาสนี้ และว่า สหรัฐและประเทศไทยมีมิตรภาพพิเศษ ระหว่างกันมาเป็นเวลานานกว่า 175 ปี และในขณะที่ประชาชนชาวไทยทั้งหลายเฉลิมฉลองกันเ ป็นเวลาสามวัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐขอส่งความปราถนาดีจากคนอเมริกัน ให้ท่านและครอบครัวของท่านมีความสุขและสันติเนื่องในวันสงกรานต์นี้
ในอีกด้านหนึ่ง นาย Robert Wood ผู้รักษาการณ์ตำแหน่งโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวประจำวัน ซึ่งเป็นการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย และเสถียรภาพของรัฐบาลว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และขอประนามความรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ จากกลุ่มผู้ดำเนินการประท้วง และว่ารัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้ผู้ประท้วง และผู้นำของผู้ประท้วง ยุติการใช้ความรุนแรงต่อไปอีก และให้ใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ
และต่อคำถามจากผู้สื่อข่าวที่ว่า ได้มีการหารือภายในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกับใครบ้าง ในประเทศไทย ผู้รักษาการณ์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวตอบว่า เชื่อว่าได้มีการหารือระหว่างรัฐบาลไทยกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐที่กรุงเทพฯ และว่า รัฐบาลไทยทราบดีว่าสหรัฐอยากจะเห็นการผ่อนคลายความตึงเครียด และไม่มีความรุนแรง
มีนักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายราย ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย นาย Matt Gertken นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกของบริษัท Stratfor ซึ่งเป็นธุรกิจข่าวกรองของเอกชน มองว่าเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างชนบทกับนาคร และระหว่างกองทัพบกกับตำรวจ
นาย Matt Gertken ของบริษัท Stratfor กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว พอจะกล่าวได้ว่า ทหารต่อต้านพตท. ทักษิณ ในขณะที่ตำรวจแห่งชาติ ค่อนข้างจะสนับสนุนพตท.ทักษิณ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพตท. ทักษิณเคยเป็นตำรวจมาก่อน
แต่ศาสตราจารย์ Duncan McCargo ของมหาวิทยาลัย Leeds ในประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า การวาดภาพว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยเ ป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างชนบท กับนาคร เป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป
นักวิชาการชาวอังกฤษผู้นี้กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย คือการแตกแยกของสังคมไทยออกเป็นสองส่วน ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศ หรือความแตกต่างทางชนชั้นของสังคม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ความแตกแยกที่พูดถึงในที่นี้ หมายถึงในทุกระดับ ในครอบครัวซึ่งสามี และภรรยาพูดคุยเรื่องการเมืองกันไม่ได้อีกต่อไป และคนที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ เวลานี้ไม่คบหาสมาคมกันอีกแล้ว
ส่วนในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะที่นักวิเคราะห์โดยทั่วไปทั้งไทย และเทศแสดงความห่วงกังวลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ที่เชื่อกันว่าจะมีรายได้ลดลงอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือราวๆ สองแสนล้านบาทในปีนี้ นาย Jean Pierre Verbiest ผู้แทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ในประเทศไทย วิตกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะชลอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ของประเทศไทยที่รัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะวางไว้
เจ้าหน้าที่ของ ADB กล่าวว่า เป็นที่แน่นอนว่า จะมีการเลื่อนเวลาการใช้แผนออกไป การลงทุนสำหรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้น มีผลข้างเคียงและครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้จะเลื่อนเวลาออกไป ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีการสดุดหยุดชงักครั้งใหญ่ ในการวางนโยบาย จะเกิดผลกระทบใหญ่ทีเดียว
ADB และธนาคารระหว่างประเทศอื่นๆ ให้ความเห็นไว้ว่า ความขัดแย้งทางการเมือง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงได้มากถึง 5 % ในปีนี้ ไม่ใช่ 2 % อย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้