อินโดนีเซีย จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันพฤหัสบดี การเลือกตั้งนี้มีความสำคัญ เพราะกำหนดว่า ใครจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่ง ปธน.ของประเทศได้บ้าง ในการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้
อนึ่งในยามนี้ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อินโดนีเซียได้รับความกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจ มากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่
ภาวะเศรษฐกิจโลก เพิ่มงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เมื่อสองสามเดือนมานี่เอง การส่งออกลดลงเกือบจะหนึ่งในสามในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับของปีที่แล้ว แต่การนำเข้ากลับลดลงมากกว่า ทำให้อินโดนีเซียยังคงได้เปรียบดุลการค้าอยู่ต่อไป ในขณะที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจคาดว่าจะชะลอตัวลง จาก 6% เศษในปีที่แล้ว ลงมาเหลือ 3% ในปีนี้ ซึ่งนับว่ายังดีกว่าอีกหลายประเทศในเอเชีย
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Standard Chartered นาย Fauzi Ischan บอกว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งในเอเชีย ที่ถูกผลกระทบน้อยที่สุดและล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดภายในประเทศใหญ่ และเพราะว่าอินโดนีเซียพึ่งพาอาศัยการส่งออกน้อยกว่าด้วย
แต่สำหรับชาวบ้านโดยทั่วไป ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก อาจจะยังไม่เป็นประเด็น เพราะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังทำงานอย่างได้ผลอยู่ในเวลานี้ ซึ่งก็คือ การใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งค่าโฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์ ของผู้สมัครเกือบหนึ่งหมื่นสองพันคน จากพรรคต่างๆรวมทั้งหมด 38 พรรค เพื่อช่วงชิงที่นั่ง 560 ที่นั่งในรัฐสภา พรรคที่อยากจะส่งตัวแทนลงช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคม จะต้องได้ 20% ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
นาย Eric Bjornlund ที่ปรึกษาอาวุโสของทีมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของศูนย์ คาร์เต้อร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สังเกตการณ์หลายกลุ่ม สำหรับการเลือกตั้งในวันพฤหัสบดีนี้ กล่าวว่าคงจะเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่ปรึกษาของของทีมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของศูนย์ คาร์เต้อร์ผู้นี้กล่าวว่า มีไม่กี่ประเทศที่ใหญ่กว่านี้ แต่ก็จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นเวลาหลายวัน อย่างเช่น อินเดีย และว่ากระบวนการเลือกตั้งในอินโดนีเซียสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียครั้งนี้ เป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่ประธานาธิบดี Suharto พ้นจากอำนาจไปในปี 1998 นับแต่นั้นมา อินโดนีเซียได้กลายมาเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน และประสบความสำเร็จ และอย่างค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
ผลการหยั่งเสียงแสดงให้เห็นว่า พรรค Democratic Party ของประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono มีคะแนนนิยมนำหน้ามากกว่าพรรคอื่นๆ โดยมองกันว่าเป็นพรรคที่ต้องการการปฏิรูปและกำลังทำงานเพื่อต่อต้านปราบปรามคอร์รัปชั่น
นาย Wimar Witoelar อดีตโฆษกของประธานาธิบดี Abdurrahman Wahid ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า ประธานาธิบดี Yudhoyono จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกเสียจากว่าจะมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะมี และก็ไม่มีผู้สมัครคนไหนที่ดูแล้วตื่นเต้นเร้าใจเลย
คาดกันว่าพรรคที่จะได้คะแนนเสียงตามมาเป็นที่สองคือ Democratic Party of Struggle ของนาง Megawati Sukarnoputri และพรรค Golkar ของอดีตประธานาธิบดี Suharto จะมาเป็นที่สาม