ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การดูแลรักษาฟันของเด็กๆ ควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด โดยการใช้ความสนใจที่เหงือกของเด็กก่อน
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ฟันไม่ดี นอกจากจะเจ็บปวดแล้ว ยังเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะการติดเชื้อที่เหงือกและฟัน อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่ไปถึงระบบเลือดได้
เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคที่ไปตามระบบเส้นเลือด อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดอาการหัวใจวาย และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และผลกระทบต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ จะร้ายแรงขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ที่ความเสี่ยงดังกล่าว เด็กๆ ก็มีความเสี่ยงจากการที่ฟันไม่ดีด้วย เมื่อไม่นานมานี้ แพทย์ในกรุงวอชิงตันบอกว่า มีเด็กชายคนหนึ่งอายุ 12 ปี เสียชีวิตเนื่องจากฟันติดเชื้อ แพร่ไปถึงสมอง เรื่องนี้อาจป้องกันได้ หากเด็กคนนั้นได้รับการดูแลฟัน
ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า การดูแลสุขภาพฟันให้ดีควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดในการพัฒนาที่ดีของฟัน เพราะน้ำนมแม่ช่วยชะลอการเติบโตของแบคทีเรียและการสร้างกรดภายในช่องปาก แต่ทันตแพทย์แนะนำว่า เหงือกของเด็กทารกและแม้ฟันของเด็กที่เพิ่งขึ้น ก็ควรได้รับการทำความสะอาดหลังการกินนม โดยใช้ผ้านุ่มๆ ชุบน้ำอุ่น เด็กที่ได้รับนมขวด ก็ควรได้รับการทำความสะอาดเหงือกและฟันเช่นเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากจะให้เด็กทารกนอนหลับไปพร้อมกับการดูดขวด ก็ควรให้เป็นน้ำเท่านั้น
เมื่อเด็กมีฟันขึ้น จะทำความสะอาดได้โดยการใช้แปรงฟันชนิดนุ่มสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ชุบน้ำและแปรงฟันให้เด็กอย่างเบามือ
โดยทั่วไป ในน้ำประปาและยาสีฟันที่ใข้กันในหลายส่วนของโลก มักมีสารฟลูออไรด์ผสมอยู่เพื่อป้องกันฟันผุ สารฟลูออไรด์ประกอบกับเคลือบฟันหรือส่วนผิวนอกที่แข็งของฟัน จะช่วยป้องกันฟันผุเป็นรูเป็นโพรง แต่เด็กเล็กๆ มักจะกลืนยาสีฟันเวลาแปรง สถาบันทันตกรรมเด็กอเมริกันบอกว่า การกลืนยาสีฟันที่มีสารฟลูออไรด์อาจก่อปัญหาได้ ดังนั้นเด็กเล็กๆ ควรได้รับการดูแลอย่างรอบคอบระมัดระวังในเรื่องการแปรงฟัน สถาบันทันตกรรมเด็กอเมริกันเตือนว่า เมื่อใช้ยาสืฟันที่มีสารฟลูออไรด์ ควรใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่ากับขนาดเมล็ดถั่วเท่านั้น
อีกเรื่องหนึ่งคือ การดูดหรืออมหัวนมหลอกหรือนิ้วโป้ง ซึ่งผู้ปกครองมักสงสัยว่าจะมีผลต่อฟันของเด็กมากน้อยแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ไม่เป็นไรในช่วงแรกของชีวิตเด็ก สถาบันแพทย์ประจำครอบครัวอเมริกันกล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่จะเลิกดูดหรืออมนิ้วโป้งเมื่ออายุได้ราว 4 ขวบ แต่ถ้าโตกว่านั้นแล้วยังอมโป้งอยู่ ผู้ปกครองก็ควรปรึกษาทันตแพทย์หรือหมอที่ดูแลเด็ก เพราะการทำเช่นนั้นอาจไปก่อกวนพัฒนาการของฟันแท้ของเด็กได้
สถาบันแพทย์ประจำครอบครัวอเมริกันแนะนำว่าเด็กๆ ควรไปหาหมอฟันครั้งแรกเมื่ออายุราว 1 ขวบ และเด็กทารกควรได้รับการตรวจเมื่อฟันน้ำนมขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมักจะขึ้นเมื่ออายุราว 6 เดือนด้วย