ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุมเพื่อหาทางรับมือด้านสุขภาพของผู้คน ในแถบเอเชียใต้


รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศและองค์การอนามัยโลก ประชุมที่กรุงนิวเดลีนครหลวงของอินเดียเป็นเวลา 4 วัน

การประชุมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันจันทร์เพื่อหาแนวทางรับมือปัญหาที่ท้าทายต่อสุขภาพของคน ในภูมิภาคนี้ เช่น ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์

เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า อุทกภัยหลายครั้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 3 ล้านคนในอินเดียและเนปาล ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภัยธรรมชาติเริ่มนำความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงด้านสุขภาพมาสู่ชุมชน อุทกภัยทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด เช่น อหิวาตกโรค และโรคปอดอักเสบ มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าภูมิภาคนี้จะต้องเพิ่มการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเพื่อช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากภัยพิบัติ

คุณมากาเร็ต บอกว่า คนยากจนคือผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากมากที่สุด ดังนั้นการสาธารณสุขขั้นมูลฐานที่เข้าถึงคนยากจนจึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดเมื่อมีปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรง

ในการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมยังได้อภิปรายถึงแนวทางที่จะควบคุมการใช้ยาสูบ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนกว่า 1 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ส่วนการลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และทารกก็ยังคงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะในอินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เนปาลและพม่า ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตของแม่และทารกรวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของอัตราการเสียชีวิตจากทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพยังต้องการให้พัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก และสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งกลับมาแพร่ระบาดอีกในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมก็เตือนว่าไม่ควรจำกัดความสนใจไปกับการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแมลงเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้ คุณอันบูมานี รามาดอสส์ รัฐมนตรีสาธารณสุขอินเดีย กล่าวว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นของประเทศในเอเชียทำให้เกิดโรคที่มาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพิ่มขึ้นด้วย

คุณรามาดอส กล่าวว่า โรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมๆ กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของเอเชีย เช่น โรคเส้นโลหิตไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงโดยทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ คือ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ ขาดการออกกำลังกาย และทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โรคเหล่านี้มีค่ารักษาพยาบาลแพง ดังนั้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่ทุกประเทศควรนำมาใช้

เจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมยังได้กล่าวย้ำให้ภูมิภาคนี้ส่งเสริมระบบสาธารณสุขที่สามารถเข้าถึง ได้เพราะประชาชนจำนวนมากยังมีฐานะยากจนอยู่


XS
SM
MD
LG