รายงานการวิจัยเมื่อปี 1998 ทำให้หลายคนเชื่อว่า วิตามินบีสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวและเส้นโลหิตอุดตันได้ โดยเฉพาะอาการหัวใจวายขั้นที่ 2 แต่ล่าสุด รายงานที่ประเทศนอร์เวย์ระบุว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
นานกว่าทศวรรษแล้วที่แพทย์และคนไข้โรคหัวใจจำนวนมาก ใส่ใจในการเพิ่มปริมาณวิตามินบีให้แก่ร่างกาย เนื่องจากมีรายงานก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าวิตามินบีช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการหัวใจวายและป้องกันโรคเส้นโลหิตอุดตันได้ รายงานดังกล่าวบอกว่าวิตามินบีจะช่วยลดระดับกรดอะมิโน ในเส้นเลือดที่เป็นตัวการทำให้เลือดจับตัวแข็งหรือที่เรียกว่า Homocysteine การมีระดับกรดอะมิโนที่ว่านี้มากๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด หัวใจตีบ
แพทย์หญิง Marta Ebbing แห่งโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัย Haukeland หนึ่งในคณะนักวิจัยที่ต้องการศึกษาว่า ระดับ Homocysteine ที่ลดลงจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการหัวใจวายลดลงจริงหรือไม่ คณะนักวิจัยทำการศึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบกว่า 3 พันคน โดยจะให้วิตามินบีหลายชนิดแก่ผู้ป่วยทุกๆ วัน ทั้งบี 12 บี 6 และกรดโฟลิค รวมทั้ง ให้ยาที่บังเกิดผลทางจิตใจแต่ไม่มีฤทธิ์รักษาโรค ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 จะเกิดอาการหัวใจวายอีกครั้งภายในเวลา 3 ปี
แพทย์หญิง Marta Ebbing บอกว่า แม้ระดับ Homocysteine ของผู้ป่วย จะลดลงเกือบ 1 ใน 3 แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดผลบวกใดๆ ต่อผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินบีชนิดใด คณะนักวิจัยจึงสรุปว่า ระดับกรดอะมิโน Homocysteine ไม้มีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน โฆษกของ American Heart Association กล่าวว่า จากการวิจัยครั้งนี้ แพทย์อาจจะสรุปได้อีกว่าวิตามินบีไม่มีผลในทางป้องกัน การเกิดอาการหัวใจวายขั้นที่ 1 เช่นกัน ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมการทานอาหาร คือทานแต่ของที่มีประโยชน์และรักษาระดับ คอเลสเตอรอลให้ต่ำอยู่เสมอ รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำและหยุดสูบบุหรี่ เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้แล้ว
รายงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน