หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เยาะหยันแนวโน้มที่ว่า สหรัฐหรือไม่ก็อิสราเอล อาจโจมตีสถานอำนวยความสะดวกด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านแล้วหนึ่งวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง ของสถาบันเกี่ยวกับความมั่นคงของภาคตะวันออกใกล้คดีศึกษาในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ไม่มีทางเลือกแบบง่ายสำหรับใช้ป้องกันมิให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีบุชกล่าวซ้ำว่า ท่านยังผูกพันอยู่กับการใช้การฑูต เพื่อเหนี่ยวรั้งความทะเยอทะยานของอิหร่านในเรื่องนิวเคลียร์ ส่วนพลเรือเอก ไม๊ค มัลเลน ประธานคณะผู้บัญชาการกองทัพกล่าวในอีกโอกาสหนึ่งว่า เขาเชื่อมั่นว่า อิหร่านยังคงมุ่งหน้าไปตามแนวทางที่นำไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่พลเรือเอก ไม๊ค มัลเลน บอกเป็นนัยว่า การที่สหรัฐจะโจมตีสถานอำนวยความสะดวกด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นเรื่องที่ทำให้สหรัฐตกอยู่ในฐานะลำบาก เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติการของสหรัฐในอิรักและอัฟกานิสถาน
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน มานูเชห์ มอตตากี กล่าวต่อสำนักข่าว Associated Press ว่า เขาไม่เชื่อว่า สหรัฐ หรือ อิสราเอล จะโจมตีอิหร่านในขณะนี้
เขากล่าวผ่านล่ามว่า รัฐบาลอิสราเอลกำลังจะล่มสลายทางการเมืองภายในอิสราเอลเอง และภายในภูมิภาค และด้วยเหตุนี้ เขาไม่คิดว่า มีวิสัยที่รัฐบาลอิสราเอลจะใช้วิธีการบ้าๆ แบบนั้น เขากล่าวด้วยว่า สหรัฐเองไม่อยู่ในฐานะที่จะทำในเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอีกครั้งหนึ่งในภูมิภาคนั้น สหรัฐหรืออิสราเอล กำลังวางแผนโจมตีทางทหารต่ออิหร่านหรือไม่ กำลังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตันและตามที่อื่นๆ ในบทความที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร The New Yorker เมื่อเดือนที่แล้ว นักหนังสือพิมพ์ประเภทสืบสวนเจาะข่าวถึงก้นบึ้ง ซีมัว.เฮิช รายงานว่า รัฐบาลชุดประธานาธิบดีบุช เร่งงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการลับในอิหร่าน
ส่วนนายไมเกิ้ล ไอเซนสตาดท์ ประธานสถาบันเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงของภาคตะวันออกใกล้คดีศึกษา คิดว่า ไม่ว่าจะมีการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอะไรต่ออิหร่าน ล้วนแต่สร้างปัญหาใหญ่ให้ทั้งนั้น นายไมเกิ้ล ไอเซนสตาดท์ ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับผลสะท้อนที่จะเกิดตามมาจากการโจมตีทางทหารเชิงป้องกัน ต่อบรรดาสถานอำนวยความสะดวกด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ ร่วมในการแถลงข่าวทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี
เขากล่าวว่า การที่ไม่มีใคร ซึ่งมิได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลชุดประธานาธิบดีบุช บอกอย่างมั่นใจได้ว่า สหรัฐมีข่าวกรองเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอยู่ในมือมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จะดำเนินการรุดหน้าอย่างไรถึงจะดีที่สุด เขากล่าวเสริมว่า การทำลายสถานอำนวยความสะดวกด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น จะต้องอาศัย
การโจมตีทางทหารหลายครั้ง ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไม่ได้ว่า จะยาวสั้นแค่ไหน
เขากล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุนี้นี่แหล่ะ การโจมตีแบบนั้น จึงจำเป็นจะต้องได้รับความสนับสนุนของมหาชนในอเมริกา ตลอดจนประชาคมระหว่างประเทศ จักต้องมองเห็นว่า การโจมตีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วย แต่ดูท่าว่า นายไมเกิ้ล ไอเซนสตาดท์ ไม่ค่อยสบายใจนัก กับการที่จะใช้วิธีการเจรจาหลายฝ่าย ซึ่งดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพื่อขบแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทั้งนี้ เพราะหลายครั้งทีเดียว อิหร่านเข้าร่วมการเจรจาแบบละล้าละลังใจ เขาอ้างว่า เวลาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพูดถึงเรื่องการเหนี่ยวรั้งความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
นายไมเกิ้ล ไอเซนสตาดท์ กล่าวว่า กว่าประชาคมข่าวกรองของสหรัฐจะลงความเห็นว่า ในปีพุทธศักราช 2547 อิหร่านระงับการออกแบบสร้างอาวุธนั้น ต้องใช้เวลาถึงสี่ปี และว่า ถ้าขีดความสามารถด้านข่าวกรองของเรามิได้ดีขึ้นกว่าสมัยนั้น กว่าเราจะลงความเห็นได้ว่า อิหร่านเริ่มดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ใหม่หรือไม่ คงต้องใช้เวลาอีกสี่ปี ซึ่งจะทำให้เราตกอยู่
ในช่วงกลางของกรอบเวลา อันเป็นช่วงที่อิหร่าน อาจมีอาวุธนิวเคลียร์แล้วก็ได้ เขากล่าวว่า เมื่อเรารู้ว่า อิหร่านตัดสินใจแบบนี้ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว
ทั้งๆ ที่มีความคลางแคลงใจหลายอย่าง แต่นายไมเกิ้ล ไอเซนสตาดท์ เชื่อว่า การใช้การฑูตเข้าแก้ปัญหา เป็นเรื่องที่ยังไม่หมดหวังเสียเลยทีเดียว เขากล่าวว่า ถ้าจะให้การเจรจากับอิหร่านได้ผล
ประชาคมระหว่างประเทศ จะต้องเสนอผลประโยชน์ให้อิหร่าน สำหรับการจำกัดวงความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของตน และมีมาตรการลงโทษ ถ้าอิหร่านดื้อดึง