มีผู้สงสัยว่า การที่กองทัพบกปากีสถานปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้นิยมใช้ความรุนแรงที่นิยมขบวนการทาเล็บบันนั้น เป็นแผนการของรัฐบาลปากีสถานที่จะเล่นงานกลุ่มผู้นิยมใช้ความรุนแรงอื่นๆ หรือว่าเป็นการรุกรบที่มีจุดมุ่งหมายในวงแคบๆ กันแน่?
ตั้งแต่รัฐบาลปากีสถานชุดปัจจุบันได้รับเลือกตั้ง และครองอำนาจมาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ รัฐบาลปากีสถานกล่าวไว้ชัดว่า ใคร่จะเจรจากับกลุ่มผู้นิยมใช้ความรุนแรงที่นิยมขบวนการทาเล็บบันบางกลุ่ม แทนที่จะสู้รบกับกลุ่มผู้นิยมใช้ความรุนแรงทั้งหมด แต่รัฐบาลปากีสถาน ส่งหน่วยกึ่งทหารไปกำจัดที่ซ่องสุมกำลังของพวกหัวรุนแรง ใกล้เมืองเปชาวาร์ให้สิ้นซาก เมืองเปชาวาร์เป็นเมืองหลวงของจังหวัดนอร์ธ เวสท์ ฟรอนเทียร์ ของปากีสถาน
มีการปฏิบัติการดังกล่าว หลังจากกลุ่มผู้นิยมขบวนการทาเล็บบันต่างๆ แสดงความเหิมเกริมมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งรัฐบาลส่วนท้องถิ่น แข่งกับของฝ่ายปากีสถาน ตามพื้นที่บางส่วนในย่านช่องเขา
ไคเบอร์ ช่องเขาที่ว่านี้ คือเส้นทางสำคัญไปสู่กรุงคาบูล และอัฟกานิสถาน
กลุ่มผู้นิยมขบวนการทาเล็บบันต่างๆ และข่ายงานก่อการร้าย อัล-ไคดา พบว่า ตนสามารถใช้ย่านชนเผ่า เป็นที่ที่จะโจมตีข้ามพรมแดน เพื่อเล่นงานทหารอเมริกันและทหารขององค์การเนโต้ในอัฟกานิสถานได้อย่างปลอดภัย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอเมริกัน โรเบิร์ต เกตส์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทำให้สหรัฐตกใจ และพยายามผลักดันปากีสถานให้ปราบความอหังการ์ของชาวอิสลามให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า เห็นชัดว่าสหรัฐวิตกกังวลในเรื่องที่ขบวนการทาเล็บบัน และผู้แข็งข้อต่อต้านกลุ่มอื่นๆ สามารถข้ามพรมแดน โดยที่ฝ่ายปากีสถานมิได้กดดันใดๆ นี้ เขาคิดว่า จะต้องนำเรื่องนั้นมาพูดจากับรัฐบาลปากีสถาน คุณเคน แค๊ทซ์แมน นักวิเคราะห์ด้านเอเชียใต้และตะวันออกกลาง แห่งบริการการวิจัยของรัฐสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มิได้เข้าข้างพรรคการเมืองใดๆ กล่าวว่า การกดดันของสหรัฐบีบคั้นให้ปากีสถานปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว
เขากล่าวว่า พวกหัวรุนแรงบุกรุกลึกเข้ามาในเมืองเปชาวาร์มากขึ้นเรื่อยๆ มาหลายเดือนแล้ว และว่า ในสัปดาห์นี้ ไม่มีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นในเมืองเปชาวาร์ ที่ทำให้ต้องมีปฏิบัติการทางทหารโดยฉับพลัน เขากล่าวว่า เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในรอบสองสามสัปดาห์มานี้ ก็คือฝ่ายสหรัฐเร่งกดดันมากขึ้น และว่า ปากีสถานทราบว่า ถ้าตนไม่ดำเนินการอะไร สหรัฐอาจเริ่มดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวมากขึ้น และอันที่จริงแล้ว สหรัฐทำแบบนั้นมากขึ้นอยู่แล้ว แต่ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงแห่งชาติคดีศึกษา แลรี กูดซัน แห่งมหาวิทยาลัยการทัพบกอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่ว่า แรงกดดันของสหรัฐบีบบังคับให้ปากีสถานดำเนินการทางทหาร ท่านศาสตราจารย์คิดว่า การคุกคามช่องเขา
ไคเบอร์ และเมืองเปชาวาร์ ร้ายแรงเกินกว่าที่ปากีสถานจะยอมรับได้ และกล่าวเสริมว่า การรุกรบต่อต้านพวกหัวรุนแรงในย่านช่องเขาไคเบอร์นั้น ทำได้ง่ายยิ่งกว่าในย่านที่พักพิงของชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลความเจริญ
ศาสตราจารย์แลรี กูดซัน คิดว่า ปากีสถานมองเห็นว่าเมืองเปชาวาร์สำคัญอย่างยิ่งยวด และไม่อาจยอมให้พวกหัวรุนแรงเข้าไปปักหลักมั่นในอาณาบริเวณนั้น ท่านศาสตราจารย์คิดว่า ฝ่ายปากีสถาน สามารถปฏิบัติการในย่านช่องเขาไคเบอร์ได้หลายวิธี ซึ่งตนจะทำไม่ได้ในย่านวาซีสถานและย่านอื่นๆ และเมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว เรียกได้ว่าปากีสถานเลือกเป้าหมายที่จะปราบได้ง่ายกว่า เมื่อมองในแง่ของการปฏิบัติการ ยังไม่ทราบว่า การรุกรบดังกล่าว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางกว่าเดิมของฝ่ายรัฐบาล หรือเป็นแค่การปฏิบัติการทางทหารในวงเขตจำกัด
แต่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวชี้ว่า นายบายตุลลาห์ เมห์ซูด ผู้บังคับบัญชาบัญชาของขบวนการ
ทาเล็บบันในปากีสถาน ผู้ซึ่งโดนรัฐบาลปากีสถานกล่าวหาว่า เป็นคนจัดแจงให้มีการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เบนาเซียร์ บุตโตนั้น ประกาศว่า เขากำลังจะระงับการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลปากีสถาน