ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิตที่กรุงวอชิงตัน


เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดนิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิตที่ National Museum of Natural History หรือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน

โดยปรกติแล้ว พิพิธภัณฑ์ต่างๆในกรุงวอชิงตันจะไม่เก็บค่าเข้าชม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ถาวรนี้ เก็บค่าเข้าชม แต่หลายคนบอกว่า ก็คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

วิวัฒนาการของผีเสื้อยาวนานกว่าที่เราคิด เพราะนักวิทยาศาสตร์บอกว่า ผีเสื้อมีชีวิตตั้งแต่ยุคจูราสสิก หรือ เมื่อ 180 ล้านปีที่แล้ว

คุณเนท เออร์วิน ผู้จัดการนิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิต บอกว่า เขามักจะเตือนนักท่องเที่ยวว่าให้มองพื้นเวลาเดินด้วย เพราะอาจจะเหยียบผีเสื้อเอาได้ แต่ถ้าผีเสื้อบินมาเกาะนักท่องเที่ยวก็ไม่เป็นไร เพราะผีเสื้อจะไม่ทำร้ายคน

นิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิตนี้มีชื่อว่า “Butterflies and Plants : Partners in Evolution” หรือ “ผีเสื้อและต้นไม้ คู่หูทางวิวัฒนาการ”

และเป็นนิทรรศการถาวรใหม่ที่มีมูลค่าถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน National Museum of Natural History ที่กรุงวอชิงตัน

ผู้จัดการนิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิตยังบอกอีกด้วยว่า ที่นี่จัดแสดงผีเสื้อมีชีวิต 30 -40 สายพันธ์อยู่ในขณะนี้ และภายใน 1 ปี จะมีผีเสื้อกว่า 100 สายพันธ์มาจัดแสดง

คุณเนทบอกว่า ทุกสัปดาห์จะมีการส่งดักแด้มาจากฟาร์มผีเสื้อทั่วโลก

ทั้งคอสตาริก้า เอกวาดอร์ มาเลเซีย ซูรินัม เคนย่า ไทย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น จึงมีผีเสื้อจากทุกมุมโลก โดยแต่ละสัปดาห์ก็จะมีดักแด้ส่งมาประมาณ 300 – 400 ตัวทีเดียว

ห้องดักแด้จะเปิด 2 ครั้งต่อวัน เพื่อปล่อยให้ผีเสื้อเกิดใหม่บินเข้าสู่ห้องจัดแสดง อาหารของผีเสื้อก็คือ น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ผลไม้ น้ำเชื่อม หรือแม้แต่น้ำเกลือแร่ในก้อนฟองน้ำ ในห้องจัดแสดงมีการควบคุมแสง ต้นไม้ อุณหภูมิ และ ความชื้นเป็นอย่างดี

ซึ่งทำให้ผีเสื้อที่อยู่ในการควบคุมแวดล้อมแบบนี้ มีชีวิตอยู่ได้ 4 สัปดาห์

ผู้จัดการนิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิต บอกว่า ผีเสื้อจะเริงระบำในโลกของแมลง เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มิฉะนั้น มันก็จะเกาะอยู่เฉยๆและไม่ทำอะไรเลย

แต่อย่างไรเสีย คนทั่วไปก็ชอบที่จะเข้ามาดูผีเสื้อสีสวยพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กๆ และแม้ว่านิทรรศการถาวรผีเสื้อมีชีวิตจะมีค่าใช้จ่ายเกือบหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับความรู้ที่มีชีวิตซึ่งประชาชนได้รับไป

XS
SM
MD
LG