องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า รัฐบาลของหลายประเทศ ไม่นำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาปฎิบัติ หลังจากปฏิญญาดังกล่าวได้รับการประกาศใช้แล้ว 60 ปี และต้องขออภัยประชาชน องค์การนิรโทษกรรมสากล พิจารณาประวัติผลงานของรัฐบาลของ 150 ประเทศ ไว้ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและพบสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่องในหลายต่อหลายประเทศ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับการประกาศใช้เมื่อปี พุทธศักราช 2491 และผู้คนพากันต้อนรับเอกสารฉบับนั้นด้วยความยินดี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
องค์การนิรโทษกรรมสากลยอมรับว่า การปรับปรุงมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ระบบ และสถาบันระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศให้ดีขึ้นนั้น ก้าวหน้าไป แต่ทว่า ถึงแม้จะประสบความสำเร็จดังกล่าว แต่ความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกัน และการลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ยังคงมีอยู่อย่างดาษดื่น
เลขาธิการขององค์การนิรโทษกรรมสากล ไอรีน ข่านกล่าวว่า เรื่องที่พูดกันอย่างเกรียวกราวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การที่สหรัฐและประเทศที่ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่แรก มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
คุณไอรีน ข่าน กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกันกำลังมีการส่งเสริมว่า การทรมานและการปฏิบัติในทางที่มิชอบนั้น เป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมข่าวกรองที่ยอมรับได้ เธอกล่าวต่อไปว่า หลักฐานสดๆ ร้อนๆ ที่ปรากฏให้เห็นในปีพุทธศักราช 2550 บ่งชี้ว่า ประเทศที่บ่อนเซาะหลักการเหล่านั้น ไม่ใช่มีแต่สหรัฐรายเดียว
ภาคีของสหภาพยุโรปหลายราย ก็สมรู้ร่วมคิดด้วย แต่ทว่าในบรรดาประเทศเหล่านี้ ไม่มีประเทศไหนดำเนินการสอบสวนเป็นเอกเทศ หรือพิสูจน์ให้เห็นว่า ตนไร้มลทิน หรือนำเครื่องป้องกัน ซึ่งสภาแห่งยุโรปเรียกร้องนั้นมาใช้บังคับ
องค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวหาสหรัฐว่า บ่อนเซาะสิทธิมนุษยชนโดยใช้วิธีการอย่างเช่น การคุมขังในคุกลับ และการสอบปากคำบุคคลโดยไม่มีการนำตัวขึ้นพิจารณาคดี ที่อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา และที่เมืองบากรัม ในอัฟกานิสถาน
องค์การข้างต้น ตั้งกระทู้ถามด้วยว่า สหภาพยุโรป จะมาเรียกร้องให้จีนหรือรัสเซีย เคารพสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลของภาคีแห่งสหภาพยุโรปเอง มีส่วนสมรู้ร่วมคิดเกี่ยวกับการทรมานและยังติเตียนยุโรปฐานจำกัดจำกัดสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยนั้นด้วย
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า รัฐบาลของประเทศที่กำลังจะกลายเป็นประเทศที่เรืองอำนาจ อย่างเช่น จีน รัสเซีย อินเดีย เมกซิโก แอฟริกาใต้ และบราซิลว่า พลังทางการเมืองนั้น มาพร้อมกันกับความรับผิดชอบ อีกทั้ง ควรใช้อิทธิพลโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆให้ปฏิบัติตามกฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย
องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ให้ไว้ก่อนที่จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง อนุญาติให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและเลิกโครงการบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อถือผ่านการเข้าค่ายแรงงาน และขอให้รัสเซียมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกับรัฐบาลนั้นให้มากขึ้น และยุติการละเมิดสิทธิในเชชเนีย
คุณไอรีน ข่าน เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า เมื่อมองย้อนไปดูเหตุการณ์ในปีพุทธศักราช 2550 สิ่งที่เธอจดจำได้อย่างแม่นยำที่สุดก็คือ พระภิกษุสงฆ์ใส่จีวรสีเหลืองในพม่า ทนายความสวมชุดดำในปากีสถาน ผู้เรียกร้องความยุติธรรม ความเสมอภาค ให้มีการปกครองตามตัวบทกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน เธอกล่าวด้วยว่า คนที่เดินขบวนตามท้องถนนนี่แหละ ที่ทำให้รัฐบาลอับอายขายหน้าในปีพุทธศักราช 2550