ตอนนี้นักวิจัยสหรัฐกำลังทดลองระบบใบพัดใต้น้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังกระแส น้ำในมหาสมุทร โครงการในรัฐฟลอริดานี้ หวังที่จะผลิตพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น และจะทำให้สหรัฐสามารถลดการใช้น้ำมันลงไปได้อีกด้วย
นักวิจัยในฟลอริดา บอกว่าพลังคลื่นและกระแสน้ำในมหาสมุทร อาจจะกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่จะนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะเพียงแค่น้ำไหลเบาๆ แค่ 2-3 น๊อตก็มีแรงพอที่จะพัด ใบพัดใต้น้ำให้หมุนเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าได้แล้ว พลังงานมหาสมุทรนี้เป็นพลังงานราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้
คุณดักกลาส เบดกู๊ด ผู้อำนวยการโครงการพลังงานน้ำคีย์ ที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าใบพัดใต้น้ำที่หมู่เกาะคีย์ ทางใต้ของรัฐฟลอริดาบอกว่า เขาสามารถเพิ่มพลังกระแสไฟฟ้าได้ด้วยการเพิ่มขนาดใบพัด ให้มีความกว้าง 3 เมตร ก็จะเรียกว่าสมบูรณ์แบบทีเดียว
เป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทร ตอนนี้กลุ่มของเขากำลังศึกษาเรื่องนี้ ด้วยการทดลองผลิตเครื่องจักรใบพัดเพื่อติดตั้งใต้น้ำ โดยจะอยู่ระหว่างเกาะ 2 เกาะ ลึกลงไปในมหาสมุทร ประมาณ 9 เมตร
คุณดักกลาสบอกว่า ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เขาจะผลิตเครื่องจักรใบพัดได้มากพอที่จะทดลองดูว่า จะสามารถใช้งานใบพัดทั้งหมดร่วมกันได้อย่างไร หลังจากนั้นในปีถัดไปก็จะสามารถผลิตเครื่องจักรใบพัดได้เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยเครื่องทีเดียว
แต่ก้าวแรกของโครงการนี้ ก็คือ ต้องพิสูจน์ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เห็นว่าโครงการใบพัดใต้น้ำนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และ ทรัพยากรธรรมชาติแถบชายฝั่งในพื้นที่นี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐ
ผู้อำนวยการโครงการพลังงานน้ำคีย์ ยืนยันว่า โครงการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ อย่างเช่น พยูน และเต่าทะเล ก็จะสามารถลอดผ่านใบพัดไปได้ เพราะใบพัดจะลอยตัวอยู่เหนือพื้นมหาสมุทร และขอบใบพัดที่หมุน ก็จะหุ้มด้วยโฟมยางเพื่อป้องกันสัตว์มาโดนอีกด้วย
โครงการพลังงานทางเลือกแบบนี้ มีเป้าหมายที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความกังวลใจว่า จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมาหรือไม่ ดังนั้น ศาสตราจารย์ เคนนี่ บรอด จากศูนย์โรเซนสตีล เพื่อการศึกษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ใกล้นครไมอามี่ จึงเตือนว่า การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนว่าจะมีการเริ่มโครงการคล้ายๆกันนี้ในยุโรป และในเมืองอื่นๆของสหรัฐอีกด้วย ห่างออกไปประมาณ 300 กิโลเมตรจากหมู่เกาะคีย์เวสต์ ก็มีทีมนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยแอตแลนติกฟลอริดา ต้องการที่จะใช้พลังงานจากกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream ที่พัดพาน้ำอุ่นจากทางเหนือเข้าไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
คุณริค ดิสคอลล์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานมหาสมุทรของมหาวิทยาลัยแอตแลน ติกฟลอริดา บอกว่าเรื่องน่าท้าทายความสามารถที่สุดก็คือ การสร้างเครื่องมือที่จะสามารถทนทานพลังกระแสน้ำมหาศาลที่ไหลผ่านได้
คุณริคบอกว่า นอกจากจะเป็นการท้าทายความสามารถ ที่ต้องประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับติดตั้งไว้ในมหาสมุทรแล้ว ระบบนี้ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพพอที่จะแข่งขันกับเทคโนโลยีบนบกซึ่งมีอยู่แล้วด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานมหาสมุทรและทีมงาน หวังว่าจะสามารถสร้างกลุ่มเครื่องจักรใบพัดขนาดมหึมาและติดตั้งลงในมหาสมุทรที่กระแสน้ำอุ่นไหลผ่าน ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 24 กิโลเมตร คุณริคยังเสริมอีกว่า จากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องพยายามหาแหล่งพลังงานใหม่ๆมาทดแทน อย่างเช่น พลังกระแสน้ำในมหาสมุทร พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม แต่เขาก็ย้ำว่าถ้าอยากได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ต้องลงทุนเหมือนกัน
คุณริคบอกว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะสามารถพัฒนาพลังงานใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ได้ แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาตรงขาดเงินทุนสนับสนุนโครงการอยู่มากทีเดียว
นักวิจัยจึงวิงวอนกันว่า ถ้ารัฐบาลสหรัฐ หรือ รัฐต่างๆช่วยสนับสนุนเงินทุนให้กับนักวิจัยได้มากกว่านี้ ก็จะช่วยให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อสหรัฐเอง และประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย