คุณสุรศักดิ์ เรียงเครือ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าววีโอเอ ถึงแผนการรองรับการส่งออกที่ลดลง
ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ค่อนข้างถดถอยลง เนื่องจากกำลังซื้อลดลง อันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ แต่เนื่องจากสหรัฐ เป็นตลาดหลักของไทยมาโดยตลอด คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 15 ของการส่งออกโดยรวม โดยที่แต่ละปี ประเทศไทยส่งสินค้ามายังสหรัฐเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 65 ของการส่งออกโดยรวม
ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค จึงได้จัดทำแผนเร่งด่วน เพื่อรองรับการส่งออกที่ลดลง
คุณสุรศักดิ์ เรียงเครือ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค กล่าวชี้แจงว่าตลาดสหรัฐเป็นตลาดที่ค่อนข้างสำคัญของสินค้าส่งออกของไทย ตอนนี้ในสหรัฐเอง กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจภายใน ทำให้กำลังซื้อลดลง ทางสำนักงานฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สำนักงานทางภูมิภาคอเมริกาเหนือทั้งหมด ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ก็คิดหาทางแก้ไข ซึ่งแบ่งเป็นระยะกลาง ระยะสั้น ระยะยาว
ระยะสั้นนี้ต้องเร่งภายในโดยด่วน คือการจัดคณะมิชชั่น คณะผู้แทนการค้าในสินค้าต่างๆที่มีศักยภาพของไทยกลับไปซื้อสินค้าไทย โดยที่มีภาคเอกชนดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นก็ต้องปลุกระดมร่วมกันกับทางคนไทยที่อยู่ในอเมริกาเอง และมีบทบาทในองค์กรชั้นนำต่างๆ ร่วมกันสร้างเครือข่าย ที่จะช่วยกันพัฒนาสินค้าไทย และนำสินค้าไทยมาสู่สหรัฐให้มากขึ้น
สำหรับมาตรการระยะกลาง เพื่อรองรับการส่งออกที่ลดลงนั้น ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค ระบุว่าในแผนระยะกลาง ได้ดำเนินการเป็นแผนหลายๆอย่าง คือเน้นเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่าย ต้องยอมรับว่า สินค้าไทยนั้น ส่งมาที่อเมริกาเยอะ แต่เรื่องเครือข่ายหรือคอนเน็คชั่นยังมีน้อย ต้องสร้างคอนเน็คชั่น จริงๆแล้วต้องพึ่ง บริษัทหรือกลุ่มคอนซัลแตนท์ ที่เป็นที่ปรึกษา ที่เป็นคนท้องถิ่น ช่วยกันพัฒนากรุยทางนำร่อง สินค้าไทยเข้ามา นอกจากนั้นยังต้องประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ผ่านสื่อต่างๆให้ดูดี อย่างเช่นโครงการของครัวไทยสูโลก โดยผ่านทางตราสินค้าไทยซีเล็ค ทำให้ผู้บริโภคในอเมริกา มองภาพลักษณ์ ของสินค้าไทยดีขึ้น นอกจากนั้นก็ต้องพัฒนาสินค้าเราให้โดนใจผู้บริโภค พัฒนาหีบห่อ พัฒนารสชาดอาหาร พัฒนาดี ไซน์รูปแบบ สินค้าเสื้อผ้า สร้างแบรนด์ นอกจากนั้น สินค้าบริการ ก็เป็นจุดแข็งของไทย ในเรื่องของร้านอาหาร สปา ร้านเสริมสวย ต้องมีการผลักดันอย่างจริงจัง โดยอาจเริ่มจากกลุ่มคนไทยที่อยู่ในอเมริกาก่อน เป็นการนำร่อง หลังจากนั้นก็เชิญชวนมาลงทุนในสหรัฐเพื่อสร้างรายได้กลับไปเมืองไทย นอกจากนั้นก็ควรมีการสร้างผู้ส่งออกผู้ผลิตสินค้ารายใหม่ๆ ขึ้นมามากขึ้น อย่างอาหาร มีคนส่งอาหารมาอเมริกาแค่สองพันกว่าราย ในขณะที่เวียดนามซึ่งเพิ่งส่งออกได้ไม่กี่ปี มีถึงสี่พันกว่าราย อันนี้ ต้องประชาสัมพันธ์ว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค กล่าวสรุปถึงแผนการระยะยาวในการรองรับการส่งออกที่ลดลงว่าแผนระยะยาว ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการศึกษา ต้องศึกษาว่าจุดแข็งของสินค้าไทยอยู่ตรงไหน มีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง ทั้งสินค้าและบริการ ซึ่งในเรื่องของราคา ต้องเป็นจุดรอง อันที่สองต้องนำธุรกิจขนาดใหญ่ของอเมริกา มาร่วมลงทุนซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น ในฝั่งของไทยควรต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ผู้ส่งออกไทยบางครั้งยังไม่ลุยมาก อยากจะให้มาตั้งสำนักงานในเมืองใหญ่ของอเมริกาเลย มีบางบริษัททำแล้ว แต่อยากให้ทุกสินค้า มาร่วมกันเป็นแหล่งข้อมูลด้วย เป็นที่ระบายของลูกค้าที่นี่ด้วย