รัฐบาลอินเดียกำลังพยายามปรับปรุงเขตชุมชนแออัดในประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยการเชิญชวนให้บริษัทพัฒนาที่ดินอินเดียรวมทั้งบริษัทต่างชาติเข้าร่วมในโครงการย้ายแหล่งชุมชนแออัดขนาดใหญ่ในนครมุมไบ อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสรรคสำคัญกั้นขวางอยู่
สลัม Dharavi คือชุมชนแออัดซึ่งตั้งอยู่ใจกลางนครมุมไบหรือบอมเบย์มายาวนานแล้ว ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ชาวอินเดียที่ยากจนทั่วประเทศต่างอพยพเข้ามาอาศัยในสลัม Dharavi จนทำให้ประชากรในชุมชนแห่งนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราวดอกเห็ดภายในอาณาบริเวณเพียง 2 ตารางกิโลเมตร ทุกวันนี้มีผู้คนดำรงชีพและทำงานอยู่ในพื้นที่แคบๆและสกปรกนี้กว่า 5 แสนคน
ล่าสุดรัฐบาลรัฐมหาราชตระเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของประเทศต่างๆ 20 ประเทศ เชิญชวนให้บริษัทพัฒนาที่ดินเข้ามาร่วมปรับปรุงเขตชุมชนแออัด Dharavi แผนของโครงการนี้ก็คือรื้อถอนทำลายสลัมออกไป สำหรับผู้อาศัยราว 57,000 ครอบครัวจะถูกย้ายไปอยู่ที่ห้องชุดพักอาศัยขนาดเล็กประมาณ 225 ตารางฟุต ส่วนพื้นที่รอบๆจะนำไปสร้างเป็นอาคารพาณิชย์หรืออาคารพักอาศัย รัฐบาลอินเดียบอกว่าโครงการปฏิรูปชุมชนแออัดแห่งนี้จะต้องใช้เงินทุนราว 2 พัน 3 ร้อยล้านดอลล่าร์และจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในสลัมจะมีบ้านใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสุขาภิบาลที่ทันสมัยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านหลายคนที่ยังระแวงและขัดขวางโครงการนี้ โดยให้เหตุผลว่าชุมชน Dharavi เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของตน นาย Jockin Arputham หัวหน้าสมาคมชาวสลัมแห่งชาติขู่ว่าจะเกิดการประท้วงครั้งใหญ่หากรัฐบาลยืนยันจะก่อสร้างโครงการนี้
นาย Jockin Arputham บอกว่ารัฐบาลไม่เคยจัดหางานมาให้ในสลัม ชาวบ้านต่างต้องหาเลี้ยงชีพกันเอง คนในชุมชน 45% ประกอบอาชีพอิสระใน Dharavi ตั้งแต่พนักงานยกกระเป๋าไปจนถึงชาวประมง ดังนั้นโครงการนี้จึงไม่ใช่การปฏิรูปสลัม Dharavi แต่เป็นการพรากงานที่มีอยู่ไปจากชาวบ้านมากกว่า
รัฐบาลอินเดียพยายามทำให้ความหวาดระแวงของชาวบ้านในชุมชนลดลง ด้วยการเสนอว่าในโครงการจะมีแผนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงาน แต่จะไม่มีโรงงานที่ก่อมลพิษเช่น โรงงานฟอกหนังแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ต่อต้านมองว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะไปตกอยู่ที่นักลงทุน ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีความโปร่งใสมากขึ้นและขอให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการวางแผนโครงการ ฝ่ายต่อต้านยังชี้ให้เห็นถึงกิจการขนาดย่อมมากมายหลานร้อยรายที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ตั้งแต่กิจการผลิตเครื่องปั้นดินเผา พลาสติก ไปจนถึงผ้าปักลวดลายสวยงามต่างๆ
หลายปีที่ผ่านมา สลัม Dharavi เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเติบโตอย่างไร้ระเบียบในเมืองต่างๆของอินเดียซึ่งมีประชากรหลายล้านคนอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด เช่น ที่นครมุมไบซึ่งมีราคาที่ดินแพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด 18 ล้านคนอาศัยอยู่ในสลัม บ่อยครั้งที่คนที่อาศัยอยู่ในสลัมไม่ใช่คนยากจนไม่มีอันจะกิน แต่เป็นคนที่ถูกกดดันให้เข้าไปอยู่ในชุมชนแออัดเนื่องจากราคาที่พักอาศัยภายนอกสลัมนั้นแพงลิบลิ่ว หลายครอบครัวในสลัม Dharavi มีความเป็นอยู่พอใช้ถึงขั้นมีโทรทัศน์และตู้เย็นทีเดียว