ในการประชุมของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ในญี่ปุ่น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่างๆ พยายามหาทางสร้างความสมดุลย์ระหว่างความจำเป็นที่จะให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง กับผลกระทบในทางทำลายสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างน้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหิน
รัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น Koji Omi กล่าวต่อที่ประชุมในวันอาทิตย์ว่า ญี่ปุ่นจะให้ทุน 100 ล้านดอลล่าร์สำหรับโครงการพลังงานสะอาดในเอเชีย และจะกันเงินไว้ 2,000 ล้านดอลล่าร์สำหรับให้กู้ในการดำเนินโครงการพัฒนาที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
เจ้าหน้าที่ ADB กล่าวว่าทางธนาคารที่จะต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อรับมือกับเอเชีย ซึ่งมีความมั่งคั่งไพบูลย์ขึ้น และใช้พลังงานมากขึ้นอย่างมากกว่าเมื่อตอนที่ธนาคารที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ 40 ปีก่อน ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานของภาคพื้นเอเชียเพิ่มขึ้น 230 เปอร์เซนต์ ขณะที่มีการทำอุตสาหกรรมมากขึ้น
ตอนนี้เอเชียใช้พลังงานจาก 1 ใน 4 ของปริมาณพลังงานที่ใช้กันในโลก เทียบกับเพียง 13 เปอร์เซนต์เมื่อ 10 ปีก่อน และคาดว่าความต้องการพลังงานในเอเชียจะสูงขึ้นต่อไป
คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญ Eminent Persons Group ซึ่งเสนอร่างข้อเสนอสำหรับการปฏิรูป ADB เมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่ารูปแบบเก่าของการเติบโตของภาคพื้นเอเชียไม่ได้นึกถึงผลเสียนั้น
คุณศุภชัย พานิชภักดิ์กล่าวว่า เรายังคิดว่าการขยายตัวเติบโตในระดับสูง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเอเชีย แต่เพียงการขยายตัวเติบโตเท่านั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องทำให้เป็นการขยายตัวเติบโตที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะนี้เอเชียยังคงอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับพลังงาน 41 เปอร์เซนต์มาจากการเผาถ่านหิน ซึ่งทำให้เกิดก๊าซที่ทำให้เกิดสภาพในเรือนกระจกปลูกพืชที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น
รายงานการประชุมคณะกรรมการของสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่ออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ เสนอแนะให้มีการดำเนินงานในทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ภาคพื้นเอเชียควรมีบทบาทนำในเรื่องนี้ เพราะเป็นภาคพื้นที่กำลังลงทุนอย่างมากมายในโครงสร้างด้านพลังงาน ในระยะไม่กี่สิบปีต่อไปนี้ เจ้าหน้าที่ ADB กล่าวว่าจะพยายามช่วยประเทศสมาชิกในการเลือกวิธีการที่ถูกต้อง
อุม วู จง ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานและการขยายตัวที่ยั่งยืนของ ADB กล่าวว่า ADB กำลังเริ่มดำเนินงานในปี 2551 โดยจะลงทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลล่าร์ในด้านพลังงานสะอาด บรรดานักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า จำเป็นจะต้องให้มีการลงทุนโดยภาคเอกชนด้วย
องค์การพลังงานระหว่างประเทศกล่าวว่า เอเชียจะต้องลงทุนมากมายมหาศาลราว 16 ล้านล้านดอลล่าร์ สำหรับโครงสร้างสาธารณูปโภคด้านพลังงานในระยะ 30 ปีข้างหน้า