ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ครบรอบ 65 ปี วีโอเอภาคภาษาไทย (1)


ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 นี้ เป็นช่วงครบรอบ 65 ปี ของการออกอากาศกระจายเสียงของ Voice Of America

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 [ ค.ศ. 1942] ไม่ถึงสามเดือนหลังจากญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่ Pearl Habor รัฐ Hawaii และสหรัฐประกาศภาวะสงครามกับญี่ปุ่น และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วยงานการกระจายเสียงต่างประเทศของสหรัฐเริ่มการกระจายเสียงออกอากาศครั้งแรกในภาษาเยอรมัน จากสำนักงานในนครนิวยอร์คทางฝั่งตะวันออกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคสู่ภาคพื้นยุโรป ซึ่งผู้ประกาศกล่าวว่า “ไม่ว่าข่าวจะเป็นข่าวดี หรือ ข่าวร้าย วิทยุกระจายเสียงนี้จะรายงานความจริง”

นอกจากภาษาเยอรมันแล้ว ภาษาต่าง ๆ ที่ออกอากาศในช่วงแรกนี้ มีภาษาไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งภาษาไทยนั้นออกอากาศจากนครซานฟรานซิสโก

ในช่วงนั้น ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดพื้นที่ในเอเชียบูรพารวมทั้งประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องจำยอมร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษกับสหรัฐ บุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาลของประเทศไทย รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ หาทางออกโดยการจัดตั้งขบวนการ “เสรีไทย” ขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยในต่างแดนก็มีปฏิกิริยาต่อต้านญี่ปุ่นเช่นกัน โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่หม่อมราชวงค์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ณ กรุงวอชิงตัน ประกาศไม่ยอมรับรู้การประกาศสงครามของรัฐบาลไทย และรวบรวมข้าราชการและนักเรียนไทยในสหรัฐเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นทุกวิถีทาง โดยให้ความร่วมมือแก่สหรัฐ

งานต่อต้านนั้นแบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งปฏิบัติงานร่วมมือในด้านการทหาร ซึ่งพยายามแทรกซึมกลับเข้าไปในประเทศไทย สายนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงาน Office Of Strategic Services [OSS] อีกสายหนึ่งทำงานด้านข่าวสาร ขึ้นอยู่กับ Office Of War Information [OWI]

นักเรียนไทยและข้าราชการไทยที่กำลังศึกษาต่ออยู่ในสหรัฐหลายคน ทำงานด้านข่าวสาร ราวสิบกว่าคนร่วมงานกับการกระจายเสียงต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งออกกระจายเสียงภาษาต่าง ๆ จากซานฟรานซิสโกไปยังภาคพื้นแปซิฟิค รวมทั้งคุณราชัน กาญจนะวณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ประกาศภาษาไทยคนแรกจากมหาวิทยาลัย Stanford คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ คุณบุญเยี่ยม มีศุข คุณหญิงอัมพร มีศุข ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คุณกรองทอง ชุติมา คุณมาลัย หุวะนันท์ คุณหญิงอุบล หุวะนันท์ คุณเสมอใจ ไศลสุต และ คุณสวัสดิ์ นิติพนธ์

พอสงครามยุติลง นักเรียนไทยแยกย้ายกันไปเรียนต่อ หรือกลับประเทศไทย บางคนยังทำงานต่อกับสำนักงานการกระจายเสียงต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งต่อมาสำนักงานที่ซานฟรานซิสโกทางฝั่งตะวันตกย้ายไปสมทบงานการกระจายเสียงทางฝั่งตะวันออกที่นครนิวยอร์ค รวมกันเป็นวิทยุกระจายเสียง Voicce Of America

การทำงานของคนไทยที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยทุกสายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากคนไทยทั่วไป มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรภายหลังสงครามและไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกับประเทศผู้แพ้สงครามอื่น ๆ

ในปี พ.ศ. 2496 Voice Of America หรือ VOA ย้ายสำนักงานจากนครนิวยอร์ค มาอยู่ที่กรุงวอชิงตันจนถึงทุกวันนี้

ขณะนี้ Voice Of America กำลังขยายการกระจายเสียงและแพร่ภาพ โดยจะใช้งบประมาณมุ่งไปทางด้านตะวันออกกลาง และบริเวณที่กำลังมีวิกฤติการณ์ มีการพิพาทสู้รบและการก่อการร้าย แต่ขณะเดียวกันก็กำลังมีแผนการจะยกเลิกการกระจายเสียงหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย ตามการเสนอของคณะผู้ว่าการการกระจายเสียงของสหรัฐ [Broadcasting Board of Governors หรือ BBG] สำหรับร่างงบประมาณปีหน้า

Sources :

- Old documents given to VOA Library by Alan Heil, Former Director of VOA

- Some books on international broadcasting

- “The Eagle And The Elephant : US – Thai Relations” -- Publication of USIS Bangkok

- Interviews with the first Thai broaddcasters during WW II

[ Mr. Rachan Kanchanavanich, ThanPuYing Poonsap Nopavong Na Ayudhya and KhunYing Amporn Meesuk who worked at the office in San Francisco and KhunYing Jintana Yossuntorn who worked at the Royal Thai Embassy]

XS
SM
MD
LG