ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลกระทบของไข้หวัดนก


นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำงานวิจัยเรื่องไข้หวัดนก เปิดเผยผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่ไข้หวัดนกเกิดการระบาดทั่วโลก เหยื่อของโรคระบาดนี้จะเสียชีวิตเพราะระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานตอบโต้เชื้อโรคนี้อย่างแข็งขันจนควบคุมไม่ได้ นักวิจัยวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่อายุ 90 ปีเพื่อเป็นแม่แบบในการวางแผนต่อต้านในกรณีที่ไข้หวัดนกเกิดระบาดขึ้น

นักวิจัยต้องการหาคำตอบว่า ทำไมเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จึงอาจทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากเสียชีวิตได้ ถ้ากลายพันธุ์และระบาดออกไปทั่วโลก และได้นำเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 1918 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 50 ล้านคนมาศึกษา ในจำนวนผู้เสียชีวิตครั้งนั้น มีเป็นจำนวนมากที่เป็นคนหนุ่มคนสาว

นักวิจัยแปรเชื้อพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นี้ให้มีลักษณะเหมือนกับเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จากนั้นนำเชื้อไข้หวัดนกที่แปรพันธุ์นี้ไปฉีดให้ลิงในห้องทดลอง 7 ตัว การทดลองดำเนินไปได้เพียงแปดวัน ไม่ถึงสามสัปดาห์ตามที่กำหนด ผลปรากฎว่าลิงทุกตัวเสียชีวิต.

นักวิจัย Yoshihiro Kawaoka นักไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่าที่ลิงมีอาการป่วยหนักเหมือนกับผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เมื่อปี 1918 ก็เพราะเชื้อไวรัสที่ผลิตตัวเองขึ้นมาอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างผิดปกติจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ปฏิกิริยาดังกล่าวแตกต่างจากเชื้อไข้หวัดนกอื่นๆที่ในที่สุดแล้ว ถูกระบบภูมิคุ้มกันร่างกายควบคุมได้ นักวิจัยกล่าวว่าปฏิกิริยาผิดปกติดังกล่าว อาจเป็นเหตุผลที่ช่วยอธิบายได้ว่า ที่มีคนหนุ่มคนสาวเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในปี 1918 ก็เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของคนเหล่านั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นหนุนให้เชื้อไวรัสผลิตตัวเองขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้ง

นักวิจัย Michael Katze จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการวิจัย กล่าวว่า แม้จะมีผลการวิจัยที่อาจบ่งระบุเหตุผลให้ได้ แต่ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าสภาพการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดการระบาดขึ้นครั้งต่อไป

นักวิจัยไข้หวัดนกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาแม่แบบขึ้นมาโดยอาศัยการทดลองเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงนี้กับสัตว์ เพื่อจะได้มีแบบแผน มีตัวยา มีวัคซีน ที่ผ่านการทดสอบแล้วเพื่อเป็นการเตรียมตัว

XS
SM
MD
LG