ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นสำคัญอันหนึ่งจะเป็นเรื่องการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การก่อการร้ายเท่าที่ได้เกิดขึ้นทั้งในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียโดยฝีมือของกลุ่ม Jemaah Islamiyah เป็นพลังผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้คาดว่า ชาติภาคีอาเซียนจะมีคำประกาศในเรื่องการตอบโต้การก่อการร้าย หรือจัดทำอนุสัญญาในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งจะมีความผูกพันตามกฎหมายมากกว่าคำประกาศ
นาย Medardo Abad Junior เจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อนุสัญญาของอาเซียนในเรื่องการตอบโต้การก่อการร้าย (ASEAN Convention on Counter Terrorism เรียกย่อๆว่า ACCT) ฉบับที่ได้ร่างขึ้นมาแล้ว กำหนดความรับผิดชอบให้ประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญากรรม ซึ่งรวมทั้งการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการปรักปรำดำเนินคดีต่อผู้ที่ก่อการร้าย
ประเด็นสำคัญที่จะหารืออีกอันหนึ่งคือเค้าโครงสำหรับกฎบัตรของอาเซียน ซึ่งจะทำให้การจัดองค์กรของอาเซียนมีพื้นฐานตามหลักกฎหมายมากขึ้น นาย Luis Cruz เจ้าหน้าที่กรมวิเทศกิจของฟิลิปปินส์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ในขณะนี้เราไม่มีกฎบัตร มีแต่คำประกาศ ข้อตกลง อนุสัญญาต่างๆเหล่านี้ ปัญหาคือการบังคับให้สมาชิกทำตามข้อตกลงเหล่านี้ ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะอาเซียนเป็นองค์กรที่ไม่มีกฎข้อบังคับเป็นพื้นฐานมาก่อน แต่เมื่อไหร่ที่มีกฎข้อบังคับขึ้นมาแล้ว ก็จะมีการบังคับใช้ได้ง่ายขึ้น เพราะจะมีมาตรการลงโทษกำหนดไว้ให้
คาดกันไว้ด้วยว่า บรรดาผู้นำอาเซียนจะลงมติสนับสนุนแผนที่จะเร่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างตลาดร่วมของภูมิภาคขึ้นมาภายในปีค.ศ. 2015 แทนที่จะเป็นปี 2020 อย่างที่ตกลงกันไว้แต่เดิม เป้าหมายคือการทำให้ชาติภาคีอาเซียนอยู่ในฐานะที่จะแข่งขันได้ดีในตลาดโลก และอาศัย AFTA หรือเขตการค้าเสรีของอาเซียนหาประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์
ประเด็นที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ อย่างเช่นโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การปฏิวัติในประเทศไทย และการปฏิรูปทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า แม้จะไม่บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม แต่คาดว่าจะมีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการในหมู่ผู้นำ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้นำคนใดคนหนึ่งต้องขายหน้า อย่างไรก็ตาม เรื่องพม่าเป็นเรื่องที่มีความกดดันจากนานาชาติเป็นอย่างมาก ในหมู่ภาคีอาเซียนเองก็มีความคิดเห็นที่แตกแยกกัน มาเลย์เซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทยได้พยายามผลักดันให้พม่าเร่งรัดการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ได้สัญญาไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ในขณะที่เวียตนาม และลาว ไม่ค่อยอยากเร่งรัดพม่าในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวไว้ว่า พม่าจะต้องกำหนดเวลาการปฏิรูปทางการเมืองให้ชัดเจน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ได้กำหนดช่วงเวลาไว้แล้วสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญ และจะก้าวหน้าต่อไปตามแนวทางสู่ประชาธิปไตย แต่สำหรับพม่านั้น ยังมองไม่เห็นสัญญาณใดๆในเรื่องช่วงเวลา และว่าจะหยิบยกเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองของพม่าขึ้นมาหารือกันในระหว่างการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ครั้งนี้