เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รันเวย์เซเว่น (Runway 7) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเวที่บ่มเพาะดีไซน์เนอร์และส่งเสริมความหลากหลายในวงการแฟชั่น ได้เป็นแพลตฟอร์มแรก ที่ทำให้ นักออกแบบหญิงไทยอย่าง อรสิริน บูรณุปกรณ์ ได้โชว์ผลงานออกแบบเครื่องแต่งกาย ในช่วงนิวยอร์กแฟชั่นวีค (New York Fashion Week)
“มองเป็นหนึ่ง milestone (หลักชัย) ละกันเนาะ ถ้าสมมุติเป็นเกม มีสัก 10 เลเวล เราอาจจะแบบเข้าไปเลเวลหนึ่ง แล้วเราผ่านเลเวลหนึ่ง" อรสิริน หรือหญิง ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยในนิวยอร์ก
ผลตอบรับจากผลงานบนรันเวย์ 7 ในครั้งนั้น ทำให้ อรสิริน ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ที่ เรียกเธอว่าเป็นดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ที่น่าจับตามอง
"ก็ดีใจ คือมันก็เป็นเหมือนหนึ่งสิ่งที่ทําให้เรารู้สึกว่า เออ มันอาจจะเป็นทางของเรา แล้วไปต่อได้ ต่อไปก็คงต้องเจออะไรอีกเยอะ แต่ว่าอย่างน้อยมันมันได้เริ่มละ มันเหมือนเราได้ก้าวเท้าไปในอินดัสตรีจริง ๆ ละ ซึ่งอินดัสตรีนิวยอร์กก็เป็นอะไรที่มัน hard to break in (ยากที่จะเข้าไป) มากเลย และการที่เราได้รับการยอมรับตรงนี้ ก็ถือว่า very, very good start (เป็นการเร่ิมต้นที่ดีมาก ๆ)" เธอกล่าว
ครอบครัวของ อรสิริน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างที่มาเรียนต่อด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA (University of California Los Angeles) เธอได้มาลงเรียนคอร์สระยะสั้นเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่นที่ Parsons School of Design สถาบันด้านการออกแบบชื่อดังในนิวยอร์ก
"จริง ๆ ตอนเด็กชอบทุกอย่าง ชอบ fine arts (วิจิตรศิลป์) ชอบดูบรอดเวย์ ชอบละครเวที ชอบร้องเพลง ชอบดูนางงาม ทุกอย่างที่มันแบบใหญ่ ๆ เวอร์ ๆ แฟนตาซี มันก็เลยแบบทําให้แฟชั่นเหมือนเป็นองค์ประกอบที่มันอยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้คิดเรื่องโปรดักชั่นสมัยก่อน เราคิดแค่ว่าเออตรงนี้สวยไม่สวย แล้วก็ชอบดูรันเวย์"
ความชอบที่มีอยู่เป็นทุนเดิม และเสียงตอบรับที่ดีจากอาจารย์ ทำให้เธอตัดสินใจมาเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์อย่างจริงจัง
"หญิงว่าหญิงค้นพบตัวเองจากคลาสนั้นเลยว่า เวลาหญิงทํางาน คือหญิงเอ็นจอยมาก แล้วก็หญิงก็แบบเรียน 9 โมง หญิงนั่งทํางานถึง 6 โมงแล้วก็อาบน้ําแล้วก็ไปเรียนต่อก็ไม่ได้นอน แต่ว่าคือเหมือนเราเอ็นจอยจนเราแค่แบบอยากทําให้มันดีที่สุดแค่นั้นเอง หญิงก็เลยรู้สึกว่าเออมันคงเป็นแบบนี้มั้งเวลาคนมีแพชชั่น (passion) กับอะไรสักอย่าง"
ดีไซน์เนอร์ไทยวัย 27 ปีได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการฝึกงานกับ Sem Sem ผู้ผลิตเสื้อผ้าหรูสำหรับสตรีและเด็กหญิง และกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังของสหรัฐฯ อย่างแอนนา ซุย (Anna Sui) ที่เธอบอกว่าทำให้เธอรู้สึกราวกับอยู่ในภาพยนตร์ The Devil Wears Prada
หลังจากเรียนจบไม่นาน เธอก็ได้รับการชักชวนจากผู้จัด Runway 7 ให้นำผลงานออกแบบไปแสดงบนรันเวย์เป็นครั้งแรก
"ตอนแรกรู้สึกว่ามันเร็วเพราะว่าหญิงเพิ่งจบแบบจริง ๆ ก็ปลายปีที่แล้ว (2566) ทำรันเวย์เลยเหรอ แบรนด์เราก็ยังไม่มี เราไม่มีอะไรสักอย่างเลย" อรสิรินกล่าว
"เขาทําหลายรอบเนอะ แต่ว่าแต่ละรอบเขาก็จะมีธีมของเขาว่าเขาอยากโชว์อะไร อยากให้เราอยู่ตรงไหน แล้วเขาก็มาสัมภาษณ์ไปว่าเราตรงกับโจทย์เขาไหม ให้เราส่งงานเข้าไปแล้วก็เหมือนเราก็เซ็นต์สัญญาว่าเราจะต้องโชว์กี่ชิ้นงาน แล้วก็ต้องเสร็จภายในเมื่อไหร่ มันก็เลยกลายเป็นงานหินเพราะว่าหญิงจบมาหญิงยังไม่มีสตูดิโอ ไม่มีลูกน้องไม่มีอะไรเลย มันก็เลยเหมือนต้องบิ้วตั้งแต่กราวด์อัพจริง ๆ"
เวลาที่กระชั้นชิด ทำให้อรสิรินต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และคอยแก้ปัญหาสารพัดเรื่อง ตั้งแต่การที่ต้องไปแข่งขันกับแบรนด์ดังใหญ่ ๆ เพื่อแย่งชิงซัพพลายเอร์ คนทำแพทเทิร์นและนางแบบ ไปจนถึงการต้องเรียนรู้งานประชาสัมภาษณ์ การประสานเรื่องภาพและเสียงที่จะปรากฎบนเวทีเดินแบบ
"ปกติรันเวย์อย่างน้อยมันต้อง 7-8 เดือน แต่ว่าคือคอลเลคชั่นใหญ่นะ เราก็ทําคอลเลคชั่นไม่ใหญ่ว่างั้นเถอะ แต่ว่าตั้งแต่ต้นจนจบมันใช้เวลา แต่ว่าหญิงพยายามอัดทุกอย่างเข้าไปในแบบ 2 เดือนกว่า ๆ...ซึ่งมันแบบมันเป็นไปไม่ได้" เธออธิบาย
"ไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้เมื่อก่อนในชีวิตเลยค่ะ แต่ก็ภูมิใจนะ คือภูมิใจไม่ใช่แค่ว่าทําเสร็จ มันเหมือนเหมือนเรามี promise (คำสัญญา) กับตัวเองว่าเราจะทําสิ่งนี้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ เวลาไม่พอ คนไม่พอ ไม่มีอะไรพอ แต่ว่าเราก็ทํามันจนเสร็จ"
ปัจจุบัน อรสิริน กำลังมุ่งมั่นอยู่กับการผลักดันแบรนด์ของเธอ ภายใต้ชื่อ ONSIRIN ที่มีเอกลักษณ์เป็นการผสมผสานความหรูหราคลาสสิคเข้ากับความคมความเปรี้ยว แต่ก็ยอมรับว่าการจะทำห้องเสื้อให้สำเร็จนั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้และจัดการ
"หญิงว่าเราต้องรู้จักตัวตนเราให้ดีมาก ๆ ก่อนที่จะเอาตัวเองไปขายให้กับตลาด เดี๋ยวนี้ทุกคนคือแบรนด์หมด ไม่ว่าคุณจะทําอะไร เราเป็นคนเนี่ย ส่วนผสมเราเยอะ เราคือแบรนด์ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักแบรนด์ตัวเองก่อน ไม่งั้นเหมือนเราขึ้นไปหน้าคลาส ถ้าเราพยายามจะพรีเซนต์ตัวเองว่าเราเป็นใคร แต่เราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หญิงว่ามันคือสิ่งที่หญิงก็ยังเป็นชาเลนจ์อยู่ ว่าหญิงต้องหาตัวเองให้เจอ เพราะไม่งั้นหญิงก็ไม่สามารถขายความเป็นเราได้ ถูกมั้ยคะ"
ดีไซน์เนอร์ไทยผู้นี้มองว่าการที่วงการแฟชั่นที่สหรัฐฯ อ้าแขนรับความแตกต่างหลากหลาย ทำให้รากเหง้า ความเป็นไทยเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ให้เธอได้จับดึงเอามาดัดแปลงใช้ในงานออกแบบ นอกจากนี้ เธอยังได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นไปและความย้อนแย้งบางอย่างของสังคมไทยด้วย อย่างเช่นในคอลเลคชั่น Bangkok After Dark ที่พูดถึงชีวิตและสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนในสังคมอนุรักษ์นิยมของไทย
"หญิงเชื่อว่าในตัวศิลปินทุกคนที่เป็นศิลปินไทย มันมีความเป็นไทยอยู่ในตัวอยู่แล้ว หญิงก็เลยมีความภูมิใจว่า เหมือนเราได้เอาเพอร์สเปคทีฟ (มุมมอง) ของศิลปินคนนึงที่เป็นคนไทยไปให้โลกดู หรือว่าแบบบางทีโลโก้ภาษาไทย เราก็แบบมีความแบบ 'เอ้ย แก ภาษาไทยมันขึ้นแล้วเว้ย!' แบบไปอยู่บนเวทีอะไรอย่างนี้"
สำหรับอรสิริน การใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์ก ให้อะไรเธอหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจทางศิลปะ หรือบททดสอบในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการต่อสู้แข่งขันกับศิลปินคนอื่น ๆ การเป็นคนต่างด้าวที่ต้องจัดการเรื่องวีซ่าเพื่อการใช้ชีวิตและทำงานในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย
แต่ที่สำคัญที่สุด เธอมองว่า นิวยอร์กพร้อมที่จะหยิบยื่นโอกาสให้กับคนที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะมีพื้นเพมาจากไหน และเธอก็กำลังใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้นิวยอร์ก เป็นบ้านของ ONSIRIN แบรนด์ของดีไซน์เนอร์หญิงไทยให้จนสำเร็จ
"ก็ยังอยากพยายามต่อค่ะ...สมมุติว่าแบรนด์เราไม่ไปถึงไหนเลย อย่างน้อยถ้าหญิงมองย้อนกลับมาก็รู้สึกว่า มันจี๊ดนะ มันแจ๋วอยู่ มันกล้าที่จะทําในสิ่งที่มันอยากทํา แค่นั้นหญิงก็พราวด์ (ภูมิใจ) ในตัวเองแล้วที่กล้าทําอะไรที่มันเกินตัวมาก ๆ ขนาดนี้"
กระดานความเห็น