ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้แทนยูเอ็นเผย 'กระแสพลิกกลับ' ในวิกฤตเมียนมา


แฟ้มภาพ - ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารร่วมชูสามนิ้วเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงที่นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2021
แฟ้มภาพ - ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารร่วมชูสามนิ้วเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงที่นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2021

ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังพ่ายแพ้ในสงครามกับกลุ่มพันธมิตรของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน แต่สถานการณ์ยังคงเต็มไปด้วยอันตราย

รายงานของทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของยูเอ็น ชี้ว่า "สถานการณ์ในเมียนมากำลังพลิกกลับเนื่องจากการขยายตัวของพลเรือนผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร และชัยชนะในสนามรบของกองกำลังแข็งข้อต่อต้าน"

แอนดรูว์สนำเสนอรายงานล่าสุดต่อสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร และได้แถลงข่าวในวันพุธว่า รัฐบาลทหารกำลังสูญเสียดินแดน ฐานทัพ และกำลังทหาร รวมทั้งสูญเสียศักยภาพในการใช้กำลังควบรวมประเทศ

"เวลานี้ รัฐบาลทหารครอบครองดินแดนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเมียนมาและเสียกำลังพลไปหลายหมื่นคนทั้งที่เสียชีวิต ยอมแพ้หรือแปรพักตร์ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน" ผู้เขียนรายงานพิเศษของยูเอ็นกล่าว

อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์สชี้ว่า แม้จะท้อแท้สิ้นหวัง แต่กองทัพเมียนมายังคงอันตรายอย่างยิ่ง และได้ยกระดับความรุนแรงต่อประชาชนในเมียนมา "ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า" ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากกับระเบิดเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อปีที่แล้ว

ผู้เขียนรายงานของยูเอ็นขอให้ประเทศต่าง ๆ หยุดส่งอาวุธที่มีอานุภาพสูงให้แก่เมียนมาเพื่อใช้สังหารประชาชน พร้อมเตือนว่าความรุนแรงและวิกฤตในเมียนมาอาจอาจลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ หลังจากมีพลเมืองหลายพันคนอพยพออกจากเมียนมาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมี "เครื่องบินรบไอพ่นของรัฐบาลทหารที่บินล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีระเบิดข้ามพรมแดนด้วย"

รายงานฉบับนี้เน้นถึงอันตรายจากการสนับสนุนรัฐบาลทหาร ซึ่งรวมถึงการที่เมียนมากลายเป็นฐานที่มั่นของเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติทางอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั่วโลก และมีผู้ถูกล่อลวงไปทำงานในเมียนมาหลายหมื่นคน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา The Assistance Association for Political Prisoners ประเมินว่า มีผู้ถูกสังหารไปแล้ว 4,500 คน และถูกจับกุมกว่า 26,000 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ขณะที่สำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านกิจการมนุษยธรรม หรือ OCHA (Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) เผยว่า มีผู้ลี้ภัยแล้ว 2.7 ล้านคน และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเมียนมาราว 6 ล้านคน

รายงานของทอม แอนดรูว์ส ยังกล่าวถึง การบังคับประชาชนเมียนมาให้เป็นทหาร ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา ส่งผลให้มีประชาชนหลบหนีออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก

รายงานยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยกันยับยั้งรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้สังหารประชาชนบริสุทธิ์ และล้มระบอบรัฐบาลทหารที่ไม่ชอบธรรม รวมทั้งยุติการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงครามและการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ ตลอดจนนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถตอบโต้ต่อรายงานของผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติฉบับนี้ได้ เนื่องจากยูเอ็นมิได้ยอมรับว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมาแต่อย่างใด

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG