ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คาดหวัง ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ฉลุยในตลาดอเมริกา


Thai Jasmine Rice products are seen on the shelf at a grocery store in California.
Thai Jasmine Rice products are seen on the shelf at a grocery store in California.

นักธุรกิจกลุ่มผู้นำเข้าและกระจายสินค้าสินค้าในสหรัฐฯ เตรียมเพิ่มยอดสั่งซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงจากไทยให้มากขึ้น ภายใต้ความตกลงทางการค้าร่วมกันที่จะรุกคืบด้านการตลาดในสหรัฐฯ หลังเห็นแนวโน้มและยอดขายสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่เเติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายรัฐทั่วอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา

ข้าวหอมมะลิไทยที่วางขายในตลาดอเมริกากำลังจะเริ่มมีทิศทางที่ดี และเป็นหนึ่งในความคาดหวังของทางการไทย ที่พยายามมุ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวและสินค้าประเภทอาหารไปยังสหรัฐฯ ให้มากขึ้น

การลงนามบันทึกความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ระหว่างผู้บริหารบริษัทนำเข้าและกระจายสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯอย่างน้อย 3 ราย กับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่นครลอสแอนเจลิส ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในความต้องการยกระดับ และผลักดันการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และ สินค้าให้ได้ มูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 1,750 ล้านบาทต่อปี

"เรามาครั้งนี้ เรามาพบกับ ผู้ประกอบการไทย และผู้กระจายสินค้าหลายๆ ส่วน เราหวังว่าเราจะเปิดตลาดไทย ในเรื่องของข้าวไทยและอาหารไทยในที่นี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเราทราบดีอยู่แล้วว่า สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทย และทำมายาวนาน และวันนี้ข้าวหอมมะลิก็ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดสหรัฐอเมริกา" ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับสื่อมวลชนที่นครลอสแอนเจลิส

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือหรือ MOU กับบริษัทคู่ค้าของอเมริกา เกี่ยวกับการส่งเสริมสินค้าอาหารและข้าวในสหรัฐฯ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือหรือ MOU กับบริษัทคู่ค้าของอเมริกา เกี่ยวกับการส่งเสริมสินค้าอาหารและข้าวในสหรัฐฯ


ขณะที่ ประมุข เจิดพงศาธร เจ้าของบริษัท CKK Paradiso บริษัทนำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ หนึ่งในบริษัทผู้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือหรือ MOU กับบริษัทคู่ค้าของอเมริกา ที่มีมูลค่ารวมกัน 1,435 ล้านบาท กล่าวกับวีโอเอไทยว่า จุดเด่นของข้าวหอมมะลิไทยคือคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์

" จุดเด่นของข้าวไทยก็คือว่า ข้าวหอมมะลิที่ปลูกจากทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นข้าวที่ทางรัฐบาล ได้มีตัว ตราสีเขียว คือหอมมะลิ คือในส่วนนี้ มันเป็นหลักประกันอยู่แล้วเรื่องคุณภาพ ที่ใครมาดัดแปลงไม่ได้

..แบรนด์ดังๆ ที่อยู่ในอเมริกา ที่มันดังได้เพราะว่าคุณภาพมันดี เพราะมีคุณภาพเพิ่มมหาศาล จำนวนข้าวหอมมะลิที่มาจากประเทศไทย ปีนึงก็อยู่ราวนี้ 6 แสนตัน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากขนาดไหนก็จะอยู่ระดับนี้ 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางเรือสูงขึ้นไม่ว่าอะไร ข้าวก็จะอยู่ระดับนี้ นี่เป็นสิ่งดีที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย แล้วก็ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า อนาคตจะไปได้อีกไกล" ประมุข กล่าว กับ วีโอเอ ไทย

Thai Jasmine Rice products are seen on the shelf at a grocery store in California.
Thai Jasmine Rice products are seen on the shelf at a grocery store in California.

ด้านบิล คุก (Bill Cook) ผอ.บริษัท ArchPoint Sale Texas บริษัทที่จำหน่ายข้าวสู่ท้องตลาดรายใหญ่ในรัฐเท็กซัสมา 40 ปี ย้ำถึง ความประทับใจในคุณภาพและความหอมของข้าวหอมมะลิจากไทยที่ได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคในสหรัฐฯ โดยเฉพาะโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิคในรัฐเท็กซัสที่ชื่นชอบข้าวหอมมะลิของไทยอย่างมาก

" ตอนนี้เราไม่ต้องการอะไร นอกจาก 'ข้าวหอมมะลิไทย' ความหอม รสชาติ เนื้อสัมผัสไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะการทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายสเปน (ฮิสแปนิก) ในเท็กซัส ที่หันมาสนใจข้าวหอมมะลิไทย..

ผู้บริหารบริษัทนำเข้าข้าวรายใหญ่ของสหรัฐฯกล่าวต่อไปว่า อัตราการเติบโตด้านตลาดของข้าวหอมมะลิสูงกว่าข้าวทั่วไปในท้องตลาด

..ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่พบการเติบโตลักษณะนี้ในกลุ่มสินค้าข้าวมาตรฐานชนิดอื่น นอกจากนี้ยังเป็นข้าวคุณภาพเยี่ยม ทั้งคุณภาพ รสชาติ กลิ่น กลิ่นหอม และรัฐบาลไทยที่สนับสนุน และยังเติบโตได้อีกในตลาดสหรัฐฯ..


กลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคชาวอเมริกัน ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ หรือ กลุ่มผู้สร้างเนื้อหาที่ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ทางการไทย นำมาใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ ข้าวไทย และอาหารไทย ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ด้วยการเชิญและเปิดเวทีให้คอนเทน์ครีเอเตอร์ทั้งหลายได้รีวิว และชิม สุดยอดเมนูอาหารไทย ที่คัดสรรมาอย่างดี

ขณะเดียวกัน กลุ่มร้านอาหารไทยที่กระจายทั่วไปในสหรัฐฯ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยผู้ประกอบการร้านไทยมองว่า หากรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นกระแสข้าวไทยแและสินค้าไทยให้เป็นผลสำเร็จ ก็จะช่วยให้ร้านอาหารไทยในต่างแดนได้รับประโยชน์ตามไปด้วย


จรัสพงษ์ วิจิตรสุนทรกุล และ ศุภมิตร สุขสุจริตกุล เจ้าของร้าน The Silver Lake House By Leela Thai มองว่าการสนับสนุนข้าวไทยในตลาดอเมริกา เท่ากับเป็นการสนับสนุนพลังทางวัฒนธรรมของไทย หรือ ซอฟท์พาวเวอร์

" ก็อย่างที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนซอฟท์พาวเวอร์ (Soft power) มันก็เป็นแรงผลักดันทำให้คนรู้จัก วัฒนธรรมการกิจการเป็นอยู่ทุกอย่างรอบมิติ พอมันเป็นกระแสเป็นเทรนขึ้นมา เราร้านอาหารทุกร้านก็ได้ประโยชน์แน่นอน เหมือนเราดูซีรีย์เกาหลี เราก็อยากกินอาหารเกาหลี อันนี้เราได้ยินเรื่องอะไรที่เป็นไทยมากๆ ฟังมากๆ เราก็รู้สึึกอินไปกับมัน แล้วทำให้คืนนี้จะทานอะไร ก็อาหารไทย ซึ่งอันนี้พอทางรัฐบาล ไทยซีเลค หรือไทยเทรดเข้ามาทำนโยบาลนี้ มันเป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก


ด้าน สิรีรัตน์ เศรษฐนันท์ ตัวแทนจากร้าน Vanida Thai Kitchen ในซานฟรานซิสโก กล่าวกับ วีโอเอ ไทย ว่า

"เรื่องข้าวสำหรับลูกค้า ลูกค้าให้ความสำคัญกับข้าว ทางเราดูแลคุณภาพของข้าว คัดสรรข้าวที่จะมาใช้เสิร์ฟลูกค้าเหมือนกัน บางครั้งเราก็ต้องมีการสต็อคข้าวไว้บ้างในโกดัง ในช่วงที่ราคาสูง เพราะไม่งั้นต้นทุน ของต่างๆ ก็สูงขึ้น ในขณะเดียวกันในราคาขายของเรา เราก็ไม่สามารถที่จะขึ้นได้ ไปพร้อมกับราคาของที่ขึ้นอยู่ตลอดเวลา..ถ้ารัฐบาลสามาถที่จะช่วยลดต้นทุน เพื่อทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ทางอเมริกาได้ต้นทุนที่ต่ำลง ก็จะช่วยได้ค่อนข้างดีมากเลยค่ะ"

ณรงค์ จำปาทอง บริษัท Washington Food Import บริษัทนำเข้าข้าวที่ดำเนินธุรกิจมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 บอกว่า

"เดี๋ยวนี้คนรู้จักข้าวไทยเยอะมากเลยครับ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ คนชอบหอมมะลิ แล้วก็มีข้าวจากเวียดนามก็เข้ามา อินเดียก็เข้ามา แต่ข้าวไทยได้รับความนิยมมากที่สุด ..ขอให้ทำให้ข้าวเรามีคุณภาพดี ขอให้เราหาพันธ์ุข้าวที่ดี เพื่อจะต่อสู้กับของเวียดนาม เพราะของเวียดนามมาแรงเหมือนกัน ของเราขอให้คงคุณภาพให้ดี"

Mango sticky rice is served on Thai traditional golden tray in Sisters Thai Alexandria restaurant in Alexandria, Virginia
Mango sticky rice is served on Thai traditional golden tray in Sisters Thai Alexandria restaurant in Alexandria, Virginia

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาหารเรากำลังมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ คณะนี้เราก็บริหารสต็อค แล้วก็กำลังส่งเสริม สิ่งที่กำลังทำอยู่ก็คือการส่งเสริมพันธ์ข้าวใหม่ ซึ่งถ้าเราพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ครบถ้วนและต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าการส่งออกก็สามารถพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ /อีกช่องทางที่เรากำลังทำอยู่ คือการใช้ช่องทางสมัยใหม่ ช่องทาง E-Commerce ช่องทางของโลกปัจจุบัน // อีกส่วนนึงก็คือเราสามารถจะเพิ่มช่องทางการขาย ก็คิดจะทำจุดกระจายสินค้า ในต่างประเทศ ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเราทำได้ครบถ้วย ทุกวงจรทุกอย่าง จะพัฒนาไปสู่ที่จุดที่เราจะสามารถขยายการส่งออกของสินค้าได้มาก

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน ปี พุทธศักราช 2566 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าประเภทข้าวจากไทยราว 605,170 ตัน ขณะในช่วง 10 เดือนแรกของปีเดียวกัน ปริมาณการส่งออกข้าวของไทย อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีปริมาณส่งออก 6.92 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามเป็นอันดับที่ 2 อยู่ที่ 7.05 ล้านตันและอินเดียเป็นอันดับที่ 1 อยู่ที่ 16 ล้านตัน

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG