นักวิจัยจีนกล่าวว่า พวกเขาได้สร้างหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ (AI) ที่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีเพื่อผลิตออกซิเจนจากน้ำบนดาวอังคารได้ ระบบดังกล่าวอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับมนุษย์อวกาศในอนาคต ในการผลิตออกซิเจนที่มีความจำเป็นอย่างมากบนดาวอังคาร
มนุษย์ที่จะไปเยือนดาวอังคารจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับจรวดซึ่งยากต่อการขนส่งสู่อวกาศได้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ได้บทสรุปจากการศึกษาหลาย ๆ ฉบับว่า ดาวอังคารมีน้ำอยู่มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของน้ำแข็ง
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ที่เมืองเหอเฟย เป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ โดยพวกเขาได้ศึกษาว่าหุ่นยนต์ AI สามารถใช้วัตถุที่พบบนดาวอังคารเพื่อผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสลายน้ำและปล่อยออกซิเจนออกมาได้หรือไม่
นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีทดลองกับอุกกาบาตที่มาจากดาวอังคาร หรือประกอบด้วยวัสดุที่คล้ายกับพื้นผิวของดาวอังคาร นักวิจัยรายงานว่า เบื้องต้น "หุ่นยนต์เคมี" ใช้กรดและสารผสมเคมีเพื่อแยกและตรวจสอบวัตถุที่มีอยู่ในดาวอังคารก่อน โดยหุ่นยนต์สามารถระบุแร่ธาตุโลหะได้หลายชนิด เช่น เหล็ก นิกเกิล แม็กนีเซียม และอะลูมิเนียม และระบุส่วนผสมของโมเลกุลที่เป็นไปได้มากกว่า 3.7 ล้านโมเลกุลจากวัตถุที่พบในอุกกาบาต
จากนั้นหุ่นยนต์ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อคาดการณ์ว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาตัวใดจะสามารถแยกโมเลกุลของน้ำเพื่อผลิตออกซิเจนได้ ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ถูกเลือกว่าเหมาะสมที่สุดสามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิลบ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับสภาพปัจจุบันบนดาวอังคาร
การประกาศผลการทดลองทางสื่อระบุว่า นักเคมี AI สามารถดำเนินการกระบวนการทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้โดยไม่ต้องให้มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมภายในเวลาเพียงสองเดือน แต่ถ้าเป็นนักเคมีมนุษย์ “ต้องใช้เวลาถึง 2,000 ปี”
จุน เจียง หัวหน้าการเขียนงานวิจัยให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ Space.com ว่า ตอนเด็ก ๆ เขามักจะฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้เดินทางในอวกาศ ดังนั้น เมื่อได้เห็นว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่สร้างโดยหุ่นยนต์สามารถผลิตออกซิเจนได้จริงโดยการแยกโมเลกุลของน้ำ เขาก็รู้สึกเหมือนว่าความฝันกลายเป็นความจริง และก็เริ่มจินตนาการไปว่า อาจจะไปอาศัยอยู่บนดาวอังคารในอนาคต
เจียง อธิบายในรายงานผลการศึกษาในวารสาร Nature ว่า นักเคมี AI ของกลุ่มวิจัยของเขาสามารถผลิตออกซิเจนได้เกือบ 60 กรัมต่อชั่วโมงในทุก ๆ ตารางเมตรของดาวอังคาร ซึ่งการผลิตในระดับนี้ อาจช่วยให้นักบินอวกาศในอนาคตไม่ต้องขนส่งออกซิเจนจากโลก นอกจากนี้ “หุ่นยนต์ยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี” อีกด้วย
นักวิจัยกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปพวกเขาวางแผนที่จะทดสอบว่าระบบ AI ของตนสามารถทำงานได้ดีภายใต้เงื่อนไขอื่น ๆ ที่พบในดาวอังคาร นอกเหนือไปจากอุณหภูมิได้หรือไม่
รายงานผลการศึกษาฉบับเต็มถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Synthetic
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น