ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ปูตินเล่นบท 'พ่อพระ' ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส


ภาพชาวเมืองมาริอูโพล ของยูเครน ที่ยืนอยู่ข้างซากรถของตนในลานของอพาร์ตเมนต์ที่ถูกถล่มจนเสียหาย
ภาพชาวเมืองมาริอูโพล ของยูเครน ที่ยืนอยู่ข้างซากรถของตนในลานของอพาร์ตเมนต์ที่ถูกถล่มจนเสียหาย

ภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูติน นั้น รัสเซียได้เริ่มต้นหรือไม่ก็เข้าร่วมการทำสงครามและภาวะขัดแย้งต่าง ๆ ที่ส่งผลให้มีการเสียชีวิตของพลเรือนนับแสน ๆ คน ในสาธารณรัฐเชเชน ซีเรีย และยูเครน

ในระหว่างการหารือกับผู้นำหลักทางศาสนาของรัสเซียในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกปากประณามเหตุการณ์ความรุนแรงในสงครามอิสราเอลและฮามาสรวมทั้งเรียกร้องให้มีการปกป้องพลเรือนด้วย

ในครั้งนั้นผู้นำรัสเซียได้ออกปากวิจารณ์ปฎิบัติการดาบเหล็ก (Operation Swords of Iron) ของอิสราเอล ในการตอบโต้กลุ่มฮามาส โดยปูตินกล่าวว่า:

“การต่อสู้กับการก่อการร้ายไม่สามารถทำได้บนหลักการว่าด้วยการมีความรับผิดชอบร่วมกันที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้สูงอายุ สตรี เด็ก และครอบครัวทั้งครอบครัว โดยประชาชนหลายแสนคนต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีที่พักอาศัย อาหาร น้ำ ไฟฟ้าและความช่วยเหลือด้านการแพทย์ใด ๆ”

ความเห็นของประธานาธิบดีรัสเซียนี้มีออกมาหลังจากคณะผู้แทนของสมาชิกอาวุโสของกลุ่มฮามาสเดินทางมายังกรุงมอสโกเพื่อร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล


หลังการโจมตีเข้าใส่อิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,400 คนและมีการจับตัวประกันไว้กว่า 200 คน ประธานาธิบดีปูตินได้พูดคุยกับ มาห์มูด อับบาส ผู้นำเขตปาเลสไตน์ รวมทั้ง บะชาร์ อัล-อัซซาด ประธานาธิบดีซีเรีย และอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิสซี ประธานาธิบดีอียิปต์ อิบราฮิม ระอีซี ประธานาธิบดีอิหร่าน และผู้นำอื่น ๆ อีกหลายคน


และหลังสถานการณ์ดำเนินต่อไปได้ 9 วัน ปูตินยกหูโทรศัพท์เพื่อโทรหา เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ในวันที่ 16 ตุลาคม โดยได้มีการแสดงความเสียใจให้กับครอบครัวของเหยื่อของการโจมตีที่เกิดขึ้น พร้อมบอกกับผู้นำอิสราเอลว่า เหตุการณ์ความเกลียดชังและภาวะความเป็นปรปักษ์ต่าง ๆ นั้นต้องยุติลงทันทีได้แล้ว


ปูตินกล่าวด้วยว่า รัสเซียจะดำเนินตามแผนเพื่อป้องกัน “มหันตภัยทางมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า” และว่า ปฏิบัติการของอิสราเอลอาจนำมาซึ่งจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในระดับที่ “ไม่อาจมีการยอมรับได้อย่างเด็ดขาด”


ทั้งนี้ การประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนในกาซ๋านั้นอยู่ที่ 7,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในเขตปกครองที่ฮามาสควบคุมอยู่เพียงแหล่งเดียว ขณะที่ อิสราเอลกล่าวว่า กระทรวงนี้ทำการปั่นตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตให้สูงขึ้น


ถึงกระนั้น การแสดงออกซึ่งความมีมนุษยธรรมของปูติน รวมทั้งการที่ผู้นำรัสเซียเรียกร้องให้มีการปกป้องพลเรือนในครั้งนี้ เกิดขึ้น ขณะที่ ตัวเขาเองกำลังเผชิญข้อหาอาชญากรรมสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนในยูเครน ตามหมายจับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของยูเอ็น


ในช่วงที่ปูตินอยู่ในอำนาจมาราว 20 ปี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1999 รัสเซียเองได้ทำการริเริ่มหรือไม่ก็เข้าร่วมกับสงครามและภาวะขัดแย้งต่าง ๆ ที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตหลายแสนคนในเชชเนีย ซีเรียและยูเครน

สงครามเชชเนียครั้งที่ 2

ในเดือนกันยายนปี 1999 วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองทัพรัสเซียกลับเข้าไปเชชเนียอีกครั้งและสั่งยกเลิกข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลกรอซนีย์และรัฐบาลมอสโกที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามเชชเนียครั้งแรกในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990


ปูตินเรียกสงครามครั้งที่สอง ว่าเป็น “ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย” และให้เหตุผลว่า เป็นเพราะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนียทำการระเบิดอาคารอพาร์ตเม้นต์หลายแห่ง ทำให้มีพลเรือนในกรุงมอสโกและเมืองอื่น ๆ ของรัสเซียเสียชีวิตหลายร้อยคน


ขณะที่ “ไม่เคยมีหลักฐานที่พิสูจน์ว่า เชชเนียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดที่ว่าผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนของชาติตะวันตกและรัสเซียเอง ยืนยันว่า Federal Security Service หรือ FSB คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดต่าง ๆ


ก่อนที่ จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ปูตินเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ FSB มาก่อน


ในปี 2007 องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ Amnesty International (AI) ประเมินว่า ตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตในสงครามเชชเนียครั้งที่สองนั้นน่าจะสูงถึงราว 25,000 คนโ ดยมีประชาชนราว 5,000 คนที่ยังสาบสูญอยู่ด้วย


ในสงครามเชชเนียครั้งแรกที่อดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน เป็นผู้สั่งการเปิดฉากเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีการประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ราว 80,000-100,000 คนโดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์


อนึ่ง ตัวเลขประเมินของพลเรือนที่เสียชีวิตในสงครามเชชเนียทั้งสองครั้งจากแหล่งข้อมูลแต่ละแห่งนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย โดยแหล่งข้อมูลในเชชเนียอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 300,000 คน ขณะที่ หน่วยงานเฝ้าระวังอิสระ เช่น กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนของรัสเซียที่ชื่อ Memorial ประเมินว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 50,000 คนที่เสียชีวิตในสงครามครั้งแรก


แต่ที่แน่ ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองกรอซนีย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเชชเนีย ถูกทำลายไปในสงครามทั้งสองครั้ง

การแทรกแซงสงครามกลางเมืองของซีเรียโดยรัสเซีย

ในปี 2015 รัสเซียเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อทำให้แน่ใจว่า รัฐบาลของ บะชาร์ อัล-อัซซาด จะคงอยู่ในอำนาจต่อไป


แต่การที่รัสเซียเข้าถล่มซีเรียด้วยระเบิดอย่างหนักในปี 2016 ในช่วง “การต่อสู้แห่งอเลปโป” (Battle of Aleppo) นั้นถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ตามข้อมูลขององค์การ Human Rights Watch และในระหว่างการรุกโจมตีเป็นระยะเวลานานนับเดือนของพันธมิตรรัสเซียและซีเรีย มีรายงานว่า พลเรือนกว่า 440 คนถูกสังหาร โดยในจำนวนนี้กว่า 90 คนเป็นเด็กเล็ก


Human Rights Watch รายงานว่า “การโจมตีทางอากาศมักจะเกิดขึ้นในแบบที่ไม่เลือกหน้า และจงใจจับเป้าโจมตีเป็นพื้นที่ทางการแพทย์อย่างน้อยหนึ่งจุด ทั้งยังมีการใช้อาวุธต่าง ๆ ตามอำเภอใจ เช่น ระเบิดลูกปรายและอาวุธเชื้อเพลิงต่างๆ”


ข้อมูลจากคณะกรรมการสอบสวนกรณีซีเรีย (Commission of Inquiry on Syria) ที่สั่งการโดยองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า อาชญากรรมสงครามนั้น “เป็นฝีมือของทุกฝ่ายร่วมกัน” ใน Battle of Aleppo โดยรายงานของยูเอ็นยังชี้ด้วยว่า “ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมและเดือนธันวาคมนั้น กองกำลังของซีเรียและรัสเซียทำการโจมตีทางอากาศรายวันซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย และยังถล่มโรงพยาบาลโรงเรียนและพื้นที่ตลาดหลายแห่งจนเหลือแต่ซาก” ด้วย


รัสเซียและรัฐบาลของ อัล-อัซซาด นั้นเป็นผู้รับผิดชอบต่อ 91% ของตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตไปราว 229,000 คนในซีเรีย ตามข้อมูลของหน่วยงานเฝ้าระวังอิสระ Syrian Network for Human Rights ที่เก็บรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของพลเรือนไว้และระบุในรายงานที่ออกมาในเดือนมิถุนายน 2022

การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย

ข้อมูลจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งรายงานของสื่อชาติตะวันตก ชี้ว่า การรุกรานยูเครนนั้นแสดงให้เห็นว่า รัสเซียทำการยิงปืนใหญ่และโจมตีโดยไม่เลือกหน้าเข้าใส่เป้าหมายพลเรือน เช่น อาคารที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงเรียนและโรงเรียนอนุบาล รวมทั้งมีการสังหารพลเรือนตามอำเภอใจด้วย


ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ปี 2022 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของสงครามครั้งนี้ องค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศรายงานว่า กองทัพรัสเซียไม่ได้ใช้อาวุธที่มีความแม่นยำใด ๆ แต่เลือกที่จะสุ่มทำการโจมตีเข้าใส่ “พื้นที่ของพลเรือนและโจมตีเป้าหมายที่ควรได้รับการคุ้มครอง เช่น โรงพยาบาล”

ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อ้างอิงมาจากการวิเคราะห์หลักฐานที่มีทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอและภาพถ่ายดาวเทียม โดย Crisis Evidence Lab ขององค์การนิรโทษกรรมสากล


แอกเนส คาลลามาร์ด เลขาธิการขององค์การนี้ กล่าวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2022 ว่า การโจมตีเข้าใส่พลเรือนอย่างไม่เลือกหน้านี้ละเมิดกฏหมายว่าด้วยมนุษยธรรมระหว่างประเทศและอาจเป็นอาชญากรรมสงครามด้วย:

“กองทัพทหารรัสเซียแสดงให้เห็นว่า ตนไม่สนใจต่อชีวิตของพลเรือนแม้แต่น้อย ด้วยการใช้ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวและอาวุธระเบิดอื่น ๆ ซึ่งส่งผลเป็นวงกว้างในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น การโจมตีในบางจุดอาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามได้ รัฐบาลรัสเซียซึ่งออกมายืนยันด้วยความเท็จว่า ตนใช้อาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำเท่านั้น ควรออกมารับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมดนี้”

ข้อมูลของ Human Rights Watch (HRW) ระบุว่า ในช่วง 11 วันแรกของสงครามยูเครนนั้น เมืองคาร์คิฟเพียงแห่งเดียวมีรายงานพลเรือนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บถึงกว่า 450 คน จากการที่รัสเซียดำเนินการโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่เข้าใส่พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

ฮิวจ์ วิลเลียมสัน ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปและเอเชียกลางของ HRW กล่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคมปี 2022 ว่า กองกำลังรัสเซีย “แสดงให้เห็นว่า ตนไม่ใส่ใจชีวิตของพลเรือน ด้วยการโจมตีไม่เลือกหน้าอย่างชัดเจน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เข้าใส่พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น” ของเมืองคาร์คิฟ ด้วยการใช้ระเบิดลูกปราย ปืนใหญ่และระเบิดต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง

เจ้าหน้าที่สอบสวนและอัยการของยูเครนและประเทศต่าง ๆ ได้เก็บบันทึกข้อมูลกรณีที่กองกำลังรัสเซียทำการสังหารพลเรือนในเมืองบูชา ซึ่งอยู่ชานเมืองกรุงเคียฟ ตั้งแต่วันที่ 5-31 มีนาคม 2022 โดยในพื้นที่ดังกล่าว มีการพบร่างของพลเรือนกว่า 30 คนตามถนนในเมืองและลานบ้านหลายจุด ทั้งยังพบศพพลเรือนอีก 67 รายที่ขุดขึ้นมาได้จากหลุมฝังศพหมู่แห่งหนึ่งด้วย

ยูรีฟ เบลูซอฟ หัวหน้าแผนกอาชญากรรมสงครามประจำสำนักงานอัยการสูงสุดของยูเครน กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ว่า ในช่วงการรุกรานของรัสเซียนั้น พลเรือนมากถึง 100,000 คนได้เสียชีวิตลง “และร่างของคนเหล่านั้นจะต้องมีการค้นหาให้พบและชี้อัตลักษณ์ ทันทีที่อาณาเขตซึ่งถูกยึดครองไว้ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ”


เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติรายงานว่า มีการบันทึกตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไว้ 27,449 รายในยูเครนระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปี 2022 จนถึงวันที่ 24 กันยายนปี 2023 โดยเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 9,701 คนและเป็นผู้รับบาดเจ็บ 17,748 คน


สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ตัวเลขที่แท้จริงนั้นน่าจะสูงกว่านี้อย่างมาก เนื่องจากข้อมูลจากบางจุดที่มีการต่อสู้อย่างหนักที่ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องยังมาไม่ถึงและมีรายงานหลายฉบับที่ยังรอการยืนยันอยู่

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG