ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ขยะลูกเทนนิส' ปัญหาสะสมในวงการนักหวดแร็กเก็ต


FILE - A ball boy with new tennis balls during a match between USA’s Coco Vandeweghe and Germany’s Mona Barthel, in Wimbledon, July 4, 2017.
FILE - A ball boy with new tennis balls during a match between USA’s Coco Vandeweghe and Germany’s Mona Barthel, in Wimbledon, July 4, 2017.

วงการกีฬาเทนนิสกำลังประสบปัญหาในเรื่องของขยะ ซึ่งผู้เล่นหลาย ๆ คนอาจจะนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่าขยะเหล่านี้เกิดขึ้นทุก ๆ ครั้งที่พวกเขาใช้ลูกเทนนิสใหม่

ลูกเทนนิสไม่สามารถรีไซเคิลได้ ดังนั้นลูกเทนนิสเกือบทั้งหมดจากจำนวน 330 ล้านลูกที่ผลิตในแต่ละปีจึงถูกนำไปทิ้งขยะหรือที่หลุมขยะฝังกลบ จากนั้นอาจต้องใช้เวลานานถึง 400 ปีในการย่อยสลายลูกเทนนิสเหล่านั้น ในขณะที่การแข่งขันเทนนิสระดับมืออาชีพรายการสำคัญ ๆ ต้องใช้ลูกเทนนิสเกือบ 100,000 ลูกตลอดระยะเวลาการแข่งขันสองสัปดาห์

ปัญหาขยะลูกเทนนิสทำให้บรรดาผู้ผลิตลูกเทนนิส เจ้าหน้าที่ของวงการกีฬาเทนนิส และบริษัทรีไซเคิลต่างมองหาวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้

นิโคลัส เจ เธเมอลิส ผู้อำนวยการศูนย์ Earth Engineering Center แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบี ยกล่าวว่า “ลูกเทนนิสก็เหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งหมายความว่าพวกมันมีความทนทานต่อกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ”

เธเมอลิสและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ชี้ว่า ลูกเทนนิสคิดเป็นอัตราส่วนเพียงเล็กน้อยของขยะหลายร้อยล้านเมตริกตันที่ผลิตขึ้นทุกปี เขากล่าวด้วยว่า ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาก็คือการหาวิธีนำลูกเทนนิสไปใช้ในทางอื่น ๆ

ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการรีไซเคิลลูกเทนนิสได้ เนื่องจากผ้าสักหลาดที่อยู่ด้านนอกของลูกเทนนิสนั้นติดแน่นอยู่กับชั้นกลาง และผ้าสักหลาดเป็นส่วนผสมของขนสัตว์และไนลอนซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ แกนกลางของลูกเทนนิสยังทำด้วยยางจากต้นยางพารา ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่าทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในอะเมซอนอีกด้วย

เจสัน คอลลินส์ หัวหน้าแผนกกีฬาแร็กเก็ตระดับนานาชาติของบริษัท Wilson Sporting Goods บอกว่า ลูกเทนนิสที่ใช้ในการแข่งขันในระดับสูงจะใช้ยางจากต้นยางโดยตรง แต่ Wilson ผลิตลูกเทนนิสแบบอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุยางรีไซเคิลด้วย

เมื่อปีที่แล้ว สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ITF) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันเทนนิสระดับมืออาชีพ ร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิต เจ้าหน้าที่วงการกีฬาเทนนิส และบริษัทรีไซเคิลเพื่อเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาลูกเทนนิส โดยการพยายามหาคำตอบสำหรับคำถามต่าง ๆ เช่น มีวิธีการออกแบบลูกเทนนิสที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดหรือไม่ และ ITF จะสามารถเปลี่ยนกฎเพื่อให้ใช้ลูกเทนนิสในการแข่งขันนานขึ้นได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน นักกีฬามืออาชีพจะเปลี่ยนไปใช้ลูกเทนนิสชุดใหม่หลังจากการแข่งขันเจ็ดเกมแรก และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนทุก ๆ เก้าเกม

เจมี่ คาเพล เดวีส์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ ITF กล่าวว่า ความพยายามในการลดขยะลูกเทนนิสนั้นมีอยู่สี่ระดับ โดยขั้นแรกคือการพยายามลดจำนวนลูกเทนนิสที่ใช้ลง จากนั้นนำลูกเทนนิสกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การรีไซเคิลเป็นอันดับที่สาม และขั้นตอนที่สี่คือการกำจัด ซึ่งหมายถึงการทิ้งลูกเทนนิสในหลุมฝังกลบ ซึ่งโดยมากจะเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ผลิตและบริษัทรีไซเคิลได้เริ่มดำเนินการเพื่อลดการใช้ลูกเทนนิส และการนำลูกเทนนิสกลับมาใช้ใหม่แล้ว

เจสัน ควินน์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด กล่าวว่า “ใครก็ตามที่บอกว่าคุณไม่ควรเล่นเทนนิสเพราะปัญหาขยะลูกเทนนิสนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” พร้อมแนะว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถทำได้ในการที่จะนำลูกเทนนิสกลับมาใช้ซ้ำหรือนำไปใช้ในทางอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาขยะลูกเทนนิส”

บางคนนำลูกเทนนิสที่ใช้แล้วไปเป็นของเล่นสำหรับสุนัข หรือนำกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะอื่น ๆ เช่นการนำลูกเทนนิสที่ใช้แล้วจำนวนมากมาบดเป็นชิ้น ๆ เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น วัสดุที่ใช้สำหรับทำพื้น เป็นต้น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG