ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เกาหลีใต้กู้ซากจรวดภารกิจส่งดาวเทียมล่มของเกาหลีเหนือ


This photo provided by South Korea's Defense Ministry
This photo provided by South Korea's Defense Ministry

กองทัพเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการเก็บกู้ซากจรวดที่เกาหลีเหนือใช้ในโครงการส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรโลกแต่ล้มเหลวเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน

รายงานข่าวระบุว่า หลังความพยายามดำน้ำค้นหามานานนับสัปดาห์ เจ้าหน้าที่กองทัพเกาหลีใต้พบชิ้นส่วนรูปทรงกระบอกของจรวดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตรและความยาว 12 เมตรที่ก้นทะเลเหลือง (Yellow Sea) ในวันพฤหัสบดี โดยเชื่อว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นชั้นที่ 2 ของส่วนประกอบจรวดที่มีทั้งหมด 3 ชั้น

คณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนนี้ถูกพบที่ความลึกราว 75 เมตร ในจุดที่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของประเทศไปประมาณ 200 กิโลเมตร

นักดำน้ำลึกหลายสิบคนพร้อมเรือและเครื่องบินหลายลำของกองทัพเกาหลีใต้ร่วมในปฏิบัติการค้นหาซากจรวดดังกล่าวที่มีชื่อว่า ชอลลิมา-1 (Chollima-1) มาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่เกาหลีเหนือพยายามส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแต่ประสบความล้มเหลวเสียก่อน

ภาพถ่ายที่เกาหลีใต้เปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นเศษซากชิ้นส่วนที่กู้ขึ้นมาได้ซึ่งยังมีส่วนลำตัวจรวดในสภาพสมบูรณ์อยู่ แต่มีการติดชื่อ “ชอนมา” (Cheonma) แม้เกาหลีเหนือจะเรียกจรวดนี้ว่า ชอลลิมา-1 ก็ตาม

กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จะร่วมกันศึกษาชิ้นส่วนจรวดดังกล่าว ขณะที่ ปฏิบัติการค้นหาซากจรวดในทะเลจะยังเดินหน้าต่อเพื่อหาชิ้นส่วนชั้นที่ 3 และอุปกรณ์นำจรวดขึ้นไป (payload)

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เกาหลีใต้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรมากมายมาเพื่อดำเนินปฏิบัติการค้นหาเศษซากจรวดของเกาหลีเหนือ เพราะทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่หายากมากที่คนภายนอกจะได้ศึกษารายละเอียดความก้าวหน้าด้านขีปนาวุธของกรุงเปียงยางและเพื่อช่วยตรวจสอบว่า ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้นมาจากที่ใดบ้าง

สื่อกรุงเปียงยางระบุว่า การยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมลาดตระเวณทางทหาร “มัลลิกยอง-1” ซึ่งล้มเหลวไปนี้ มีสาเหตุจากความไม่มีเสถียรภาพของเครื่องยนต์ชั้นที่ 2

This photo provided by South Korea's Defense Ministry, shows an object salvaged by South Korea's military. (South Korea Defense Ministry via AP)
This photo provided by South Korea's Defense Ministry, shows an object salvaged by South Korea's military. (South Korea Defense Ministry via AP)

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นด้วยว่า เครื่องยนต์ชั้นที่ 2 สภาพดีและอยู่ภายในลำตัวจรวดที่เก็บกู้มาได้น่าจะเปิดทางให้เกาหลีใต้สามารถประเมินความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือที่อาจนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีปต่อไปได้

สื่อยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า ในส่วนของชิ้นส่วนเครื่องยนต์ชั้นที่ 1 นั้น เชื่อกันว่า น่าจะเป็นส่วนที่คล้าย ๆ กับเครื่องยนต์ของขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีป ฮวาซอง-15 (Hwasong-15) หรือ ฮวาซอง-17 (Hwasong-17) ขณะที่ เครื่องยนต์ชั้นที่ 2 น่าจะเป็นรุ่นที่ใหม่กว่า

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เรือรบของจีนจำนวนหนึ่งออกตระเวณในทะเลเหลืองเพื่อปฏิบัติการค้นหาเหมือนกัน แต่ไม่ได้รบกวนปฏิบัติการของเกาหลีใต้เนื่องจากอยู่ในคนละส่วนของทะเล

ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศความมุ่งมั่นที่จะส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหารขึ้นวงโคจรโลกให้ได้ พร้อม ๆ กับโต้กลับเสียงวิจารณ์จากผู้นำโลกต่อการเดินหน้ายิงทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสิ่งที่ท้าทายมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่สั่งห้ามการทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งต่าง ๆ

และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กรุงเปียงยางก็เพิ่งกลับมายิงทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบราว 2 เดือน โดยเป็นทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูก ซึ่งแถลงการณ์ที่สื่อ KCNA ของรัฐบาลเปียงยางโพสต์ทางเว็บไซต์ของตนก่อนการยิงทดสอบนั้นมีเนื้อหาติเตียนต่อว่าการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่ใช้กระสุนจริงด้วย พร้อมประกาศว่า ตนจะ “ทำการโต้กลับเต็มรูปแบบ” ต่อแผนงานทางทหารดังกล่าวด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG