ผู้เชี่ยวชาญและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้มีการยกระดับความพยายามในการขัดขวางการจารกรรมความลับของจีน ซึ่งหลายคนเชื่อว่า มีส่วนช่วยให้กรุงปักกิ่งใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ถูกขโมยมาไปใช้ในการพัฒนาอาวุธล้ำสมัยได้มากมาย
เจมส์ แอนเดอร์สัน อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า จีนขโมยเทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐฯ ไปเพื่อพัฒนาเครื่องบินรบ เจ-20 และได้ประโยชน์จากปฏิบัติการนี้อย่างมาก
แอนเดอร์สัน ระบุว่า “พวกเขาได้ประโยชน์มากมายจากการลักขโมยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” และว่า “พวกเขาเอาไปใช้งานได้อย่างดี และยังคิดค้นเครื่องบินรบล้ำสมัยรุ่นที่ 5 ออกมาได้ด้วย”
แต่อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้ชัดว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของจีนมีความสามารถเทียบเคียงกับเครื่องบินรบ เอฟ-22 แรปเตอร์ ของสหรัฐฯ ได้หรือไม่ เนื่องจาก ยังไม่มีการไปใช้ในการรบมาก
ส่วน แมทธิว บราซิล ซึ่งเป็นนักวิจัยและนักเขียนจาก Jamestown Foundation ซึ่งเคยทำงานกับสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ทั้งในด้านส่งเสริมและควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯ ไปยังจีน กล่าวว่า สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) ไม่มีกำลังคนมากพอที่จะคอยติดตามการเคลื่อนไหวของจีนในสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึง “เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมด้านภาษา วัฒนธรรมและด้านต่าง ๆ ของจีน มากเพียงพอ (และ) สภาคองเกรสควรยื่นมือเข้ามาช่วยในเรื่องนี้และให้งบสนับสนุนโครงการประเภทดังกล่าวเพื่อช่วยอบรมบุคลากร”
บราซิล บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ด้วยว่า “ปฏิบัติการจารกรรมของ(พรรค)คอมมิวนิสต์จีน ไม่เหมือนกับกองทัพแมลงสาบพร้อมฟันคมเหมือนกริชไต่ขึ้นแขน ... มันเป็นการสอดแนม ... เราจะสามารถรับมือได้ดีถ้ามีระบบต่อต้านการจารกรรมที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคเอกชนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”
เมื่อเดือนที่แล้ว ส.ว.มาร์โก รูบิโอ และส.ว.มาร์ค วอร์เนอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขยายการใช้อำนาจและเครื่องมือที่มีอยู่กับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและองค์กรของจีนไม่ให้หาประโยชน์จากการลงทุน บุคลากร และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้”
เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมงานของวอร์เนอร์ บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า “เรายังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ และกำลังติดตามรายละเอียดจากกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่”
วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ส่งอีเมลไปยังสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวนี้
เทคโนโลยีสหรัฐฯ ในอาวุธจีน
จีนอ้างว่า ตนเป็นผู้พัฒนาเครื่องบินรถล่องหน เจ-20 รุ่นที่ 5 ด้วยตนเองและนำมาใช้งานในปี ค.ศ. 2017
จอห์น ชิปแมน จาก International Institute for Strategic Studies กล่าวไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่งานของสถาบันฯ ว่า การผลิตเครื่องบินรบ เจ-20เอ ของจีนนั้นน่าจะแซงหน้าระดับการผลิตเครื่องบินรบ เอฟ-22 แรปเตอร์ ของสหรัฐฯ ได้ภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกัน DefenseOne ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวด้านกิจการทหารที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่าเครื่องบินรบรุ่นที่ 6 อาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic) และขีปนาวุธของจีน รวมทั้งบอลลูนสอดแนมที่ข้ามน้ำมายังพื้นที่ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้วล้วนมีการใช้เทคโนโลยีของอเมริกาทั้งสิ้น
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า จีนนั้นมีคลังแสงอาวุธ hypersonic ในระดับต้น ๆ ของโลกอยู่ในเวลานี้ด้วย
แทร์รี ธอมป์สัน นายทหารระดับพันเอกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เกษียณออกมาแล้วและเคยทำหน้าที่วางแผนการรบที่เพนตากอน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า จีนนั้นขาดซึ่งพื้นฐานเทคโนโลยีอันหนักแน่นมั่นคงและมีประวัติอันยาวนานเกี่ยวกับการเฝ้าขโมยเทคโนโลยีของคนอื่น
ธอมป์สัน กล่าวว่า “ถ้าคุณลองมองย้อนกลับไปดูมหากาพย์พัฒนาการของเครื่องบินจีนดู จะได้ยินพวกเขา(จีน)บอกว่า ได้ผลิตเครื่องบินที่หน้าตาเหมือนและบินเหมือนเครื่องเอฟ-16 และเอฟ-15 และเอฟ-18 ... ซึ่งก็คือ ทั้งหมดดูเหมือนเครื่องบินของเรา พวกเขาไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ที่มารากฐานด้านเทคโนโลยีของตนเอง”
อดีตนายทหารกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า จีนหมายตาไปยังเทคโนโลยีระบบเครื่องยนต์และพลังงาน รวมทั้งระบบอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) เพราะจีนไม่มีความสามารถที่จะเคลือบพื้นผิวภายนอกของเครื่องบินด้วยวัสดุล่องหน “พวกเขาขโมยจากเรา” พร้อมกล่าวด้วยว่า “แต่ตอนนี้ จีนกำลังเริ่มก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรีแล้ว เพราะพวกเขาเพียงแค่ใช้การขโมยเบิกทางให้ตนเอง”
การโจมตีทางไซเบอร์และสอดแนบแบบเดิม ๆ
เจมส์ แอนเดอร์สัน อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ Fox News Digital ว่า งานด้านข่าวกรองของจีนนั้นใช้วิธีแบบเดิม ๆ ซึ่งก็คือ การสอดแนมและการติดสินบนเพื่อซื้อตัวผู้ทำสัญญารับจ้างทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้ง การใช้หนทางไซเบอร์ไฮเทคเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ ๆ เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย
แอนเดอร์สัน กล่าวด้วยว่า “ในทางปฏิบัติ เรา(สหรัฐฯ) กลายมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนของงานวิจัยและพัฒนาของ(จีน) เพราะพวกเขาประสบความสำเร็จในการขโมยความลับบางอย่างของเราไปได้”
คริส ออสบอร์น ประธานและบรรณาธิการใหญ่ของ U.S. Military Modernization Center ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนอย่างน้อย 162 คนที่เคยทำงานที่ U.S. Los Alamos National Laboratory และมีประสบการณ์การทำงานด้านหัวรบที่มีความสามารถสูงในการเจาะ วัสดุนาโนคอมโพสิต (nanocomposite materials) ทนความร้อนที่มีเนื้อแข็งแบบใหม่ โดรนที่มีความสามารถในการออกตัวและลงจอดในแนวตั้ง และเทคโนโลยีเรือดำน้ำ “แบบเงียบ” รุ่นใหม่
รายงานฉบับหนึ่งของ BluePath Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำตามการมอบหมายของ U.S.-China Economic and Security Review Commission และได้รับการตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ระบุว่า “แม้จะมีงานด้านวิจัยอยู่มากมายเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของจีน ระบบห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์นั้นยังเป็นส่วนงานที่มีผู้เข้าใจไม่มากนัก ... ความคลุมเครือนี้ไม่เพียงทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้และความเข้าใจงานวิจัยทางกลาโหมของจีนเท่านั้น แต่ทำให้ห้องแล็บจำนวนมากดำเนินงานไปโดยไม่มีใครตรวจจับเจอ ทั้งยังนำมาซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ถึงขั้นความร่วมมือระหว่างห้องแล็บด้านกลาโหมของจีนและสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย”
ในปีนี้ งบค่าใช้จ่ายทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับ 7.2% ถึงราว 224,800 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลในบทวิเคราะห์งบประมาณอย่างเป็นทางการของ Center for Strategic and International Studies
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อร่วมประชุมกับคณะผู้แทนกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองกำลังตำรวจติดอาวุธเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนควรจะเร่งระดับการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้แล้ว
เอมิลี เดอ ลา บรูแยร์ นักวิจัยอาวุโสจาก Foundation for Defense of Democracies บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า จีนต้องการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์สำหรับงานด้านการทหาร การพัฒนาอัลกอริทึมและข้อมูลอันมีค่าต่าง ๆ
เดอ ลา บรูแยร์ กล่าวว่า “การขโมยเทคโนโลยีกลายมาเป็นงานที่มีความสำคัญในลำดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และดิฉันอยากจะบอกว่า ไม่ใช่เพียงแต่การปฏิบัติแบบก้าวร้าวโดยปกติของจีน เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ที่ว่า แต่ยังรวมถึงการใช้ตัวตนของตนเองในเวทีโลกเพื่อข่มขู่ผู้อื่น ที่มีการเพิ่มมากขึ้นแล้ว” และว่า “(จีน)ไม่ได้เพียงกำลังจะพยายามตามให้ทัน แต่พวกเขาก็กำลังขโมยเทคโนโลยีจากระบบนานาชาติเพื่อการพัฒนากิจการทางทหารของตนเองให้ล้ำสมัย ซึ่งพวกเขาก็จะได้ทำการพัฒนาในราคาทุนที่ต่ำกว่าคนอื่นทุกคน”
- ที่มา: วีโอเอ