ตำรวจอินโดนีเซียกล่าววันจันทร์ว่า บริษัทจำหน่ายสารเคมีแห่งหนึ่ง ขายสารที่ถูกใช้ในยาน้ำสำหรับเด็ก โดยระบุสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานนำไปผลิตยาได้ ทั้งที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยคนละประเภท
เจ้าหน้าที่ระบุว่าการขายสินค้าผิดประเภทครั้งนี้ อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กในอินโดนีเซีย เสียชีวิตไปแล้วกว่า 200 ราย ตามรายงานของรอยเตอร์
สารสองชนิดที่ถูกต้องสงสัยในกรณีดังกล่าว คือ เอธิลีน ไกลคอล (EG) และ ไดเอธิลีน ไกลคอล (DEG) ซึ่งพบในยาน้ำรสหวานประเภท ‘พาราเซตามอล’
สารสองชนิดดังกล่าวเชื่อมโยงกับการเจ็บป่วยรุนเเรงที่ไตของเด็กจำนวนมาก
ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม สาร EG และ DEG ใช้ต้านการจับตัวเเข็งของของเหลว แต่หากยกระดับให้เป็นไปตามคุณสมบัติสำหรับการผลิตยา จะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เช่น ยาน้ำแก้ไอรสหวาน
สารประเภทนี้อาจมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อร่างกาย และอาจทำให้ไตได้รับความเสียหายรุนเเรง
พิพิต ริสมานโต เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของอินโดนีเซียกล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า บริษัท ซีวี ซามูเดอรา เคมิคอล (CV Samudera Chemical) ขาย สาร EG และ DEG “คุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ผิดประเภท โดยระบุว่า สินค้าเป็นสารประเภท โพรพิลีน ไกลคอล “คุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ยา” ที่ผลิตโดย ดาว เคมิคอล ไทยเเลนด์ (Dow Chemical Thailand) จากนั้นจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตยาในอินโดนีเซีย
ตำรวจได้จับกุมตัวเจ้าหน้าที่ ของบริษัท ซีวี ซามูเดอรา เคมิคอล และของบริษัทจัดจำหน่ายสินค้า ซีวี อนุกราห์ เพอร์ดานา เกมิลัง (CV Anugrah Perdana Gemilang) ไว้เเล้ว
รอยเตอร์ยังไม่สามารถติดต่อเพื่อให้ได้ความเห็นจากสองบริษัทดังกล่าวโดยทันที
พิพิต ริสมานโต ระบุด้วยว่า อาจมีผู้ต้องหาเพิ่ม ขณะที่การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับกลุ่มบริษัท Dow ประธานกรรมการบริษัท Dow Indonesia ริสวาน สิปายุง กล่าวว่า บริษัทของเขา “จะประสานงานกับรัฐบาล ผู้จำหน่าย และ หุ้นส่วนในอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการในส่วนของตน ในการบรรเทาเหตุเร่งด่วนที่เกิดขึ้นอย่างเเพร่หลาย อันเกี่ยวกับสินค้าปลอม และจัดการกับปัญหาที่ได้รับผลกระทบทั้งอุตสาหกรรมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด"
เมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันทีเพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากยาที่มีสารปนเปื้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คน เชื่อมโยงกับยาแก้ไอน้ำเชื่อมในประเทศแกมเบีย อุซเบกิสถาน และอินโดนีเซีย เมื่อปีที่เเล้ว
ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 25 ครอบครัวเรียกร้องค่าเสียหาย โดยศาลอินโดนีเซียเริ่มกระบวนการไต่สวนในเดือนมกราคม ในคดีซึ่งมีผู้เสียหายร่วมหลายรายเป็นโจทก์ เพื่อให้ดำเนินการต่อหน่วยงานรัฐและบริษัทยา
หน่วยงานกำกับดูเเลอุตสาหกรรมยาของอินโดนีเซีย BPOM เคยกล่าวว่า ในหลายกรณีที่เกิดเพิ่มขึ้น มีผู้เกี่ยวข้องหลายรายที่ “ฉวยโอกาสจากช่วงโหว่ในระบบการันตีความปลอดภัย” และว่า บริษัทยาจำนวนไม่น้อยไม่ได้ตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้อย่างเพียงพอ
- ที่มา: รอยเตอร์