โปรแกรมแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ แชทจีพีที (ChatGPT) ของบริษัทโอเพ่น เอไอ (OpenAI) สอบผ่านในข้อสอบกฎหมายที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ทั้งแบบข้อสอบปรนัยและอัตนัย ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญไปจนถึงกฎหมายภาษีและการละเมิดกฎหมายต่าง ๆ
โจนาธาน ชเว อาจารย์ด้านกฎหมายจาก Minnesota University ลองให้โปรแกรมแชทจีพีที ทำข้อสอบที่นักศึกษาได้ทำ โดยเป็นข้อสอบปรนัย 95 ข้อ และข้อเขียน 12 ข้อ
รายงานในหัวข้อ “เมื่อแชทจีพีทีเรียนกฎหมาย” ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ชเวและผู้ร่วมเขียนรายงาน ระบุว่า แชทจีพีที ได้เกรด C+
แม้จะดูเหมือนว่าแชทบอทจะทำคะแนนได้ในระดับสอบผ่าน แต่ก็ถือว่าเกือบจะทำคะแนนรั้งท้ายของชั้นเรียนในหลายวิชา รวมทั้งข้อสอบปรนัยที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ด้วย
ผู้จัดทำรายงาน “เมื่อแชทจีพีทีเรียนกฎหมาย” ระบุว่า “ในการเขียนเรียงความ แชทจีพีที แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับกฎหมายพื้นฐานและมีการจัดระเบียบองค์ประกอบการเขียนเรียงความที่ดูสม่ำเสมอ” แต่นักศึกษาแชทบอทนี้ “มักประสบปัญหาในการจับประเด็นปัญหาที่ให้ไว้ในข้อสอบอัตนัยที่เป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสอบกฎหมาย”
แชทจีพีที (ChatGPT) ของบริษัทโอเพ่น เอไอ (OpenAI) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากไมโครซอฟท์อย่างมหาศาลในสัปดาห์นี้ สร้างความฮือฮาจากศักยภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของแชทบอทในการแต่งเรียงความ แต่งกลอน แต่งเพลง รันโปรแกรมดีบัก รวมทั้งตอบคำถามต่าง ๆ โดยเลียนแบบการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งความน่าทึ่งของแชทจีพีที ทำให้นักการศึกษาเกิดความกังวลและออกโรงเตือนว่านี่อาจนำไปสู่การโกงข้อสอบในวงกว้างและอาจส่งสัญญาณถึงจุดสิ้นสุดของรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม
ตอนนี้รัฐนิวยอร์ก ออกมาห้ามการใช้แชทจีพีทีในสถานศึกษา แต่ชเวแนะว่า นี่อาจเป็นผู้ช่วยสอนที่มีคุณค่าทีเดียว เขาเสริมว่า “โดยรวมก็คือ แชทจีพีทีไม่อาจเป็นนักศึกษากฎหมายที่ยอดเยี่ยมได้หากต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง .. แต่เราหวังว่าหากร่วมมือกับมนุษย์ แชทพีจี จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักศึกษากฎหมายที่กำลังจะเข้าสอบหรือเตรียมตัวเพื่อเป็นทนาย”
อาจารย์ด้านกฎหมายจาก Minnesota University ไม่ได้เน้นถึงประเด็นความเป็นไปได้เรื่องการโกงข้อสอบเท่าใดนัก และได้ตอบผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ชี้เป้าจุดบกพร่องของงานเขียนของแชทบอท 2-3 จุดที่เขาพบว่า “(พวกเขา) มีลางสังหรณ์และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะแชทจีพีที ใช้ไวยากรณ์ถูกต้องสมบูรณ์และบางครั้งมักจะใช้คำซ้ำบ่อย ๆ ด้วย”
- ที่มา: เอเอฟพี