ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จริงหรือไม่ รัฐบาลกัมพูชาใช้ศาลกำจัดฝ่ายค้านก่อนเลือกตั้งใหญ่


Thach Setha, vice president of the country's main opposition Candlelight Party, hugs a boy in front of the Prey Sar main prison outside Phnom Penh, Cambodia, on November 10, 2021. (Heng Sinith/AP)
Thach Setha, vice president of the country's main opposition Candlelight Party, hugs a boy in front of the Prey Sar main prison outside Phnom Penh, Cambodia, on November 10, 2021. (Heng Sinith/AP)
สก อีสาน

สก อีสาน

โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา

“ใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมาย ล้วนไม่มีความเกี่ยวดองทางการเมืองทั้งสิ้น ในสายตาของศาลซึ่งดำเนินการต่อคนเหล่านั้นตามขั้นตอนและกฎหมายเท่านั้น"

เท็จ

เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ตำรวจกัมพูชาจับกุมตัว ทัค เสธธา รองประธานพรรคแสงเทียนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในข้อหาเช็คเด้ง

หลังเกิดเหตุ พรรคแสงเทียนออกมาประณามเรื่องนี้ทันที โดยอ้างว่า การจับกุม ทัค เสธธา ครั้งนี้เป็นความพยายามข่มขู่คุกคามเพื่อกดดันไม่ให้ “ประชาชนชาวกัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคแสงเทียน”

มูลนิธิอันเฟรล (Asian Network for Free Elections - ANFREL) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า

“การควบคุมตัวผู้นำฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมทำให้เกิดคำถามสำคัญมากมายเกี่ยวกับความยึดมั่นของรัฐบาลกัมพูชาในหลักการด้านประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม”

Thach Setha, now vice president of the country's main opposition Candlelight Party talks to media members near the Vietnam Embassy in Phnom Penh on August 14, 2014. (Heng Sinith/AP)
Thach Setha, now vice president of the country's main opposition Candlelight Party talks to media members near the Vietnam Embassy in Phnom Penh on August 14, 2014. (Heng Sinith/AP)

สก อีสาน โฆษกของพรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ว่า

“พวกที่บอกว่า การจับกุมครั้งนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับความจริงของสิ่งที่ ทัค เสธธา ทำไป เพราะเขียนเช็คที่เด้ง ใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมาย ล้วนไม่มีความเกี่ยวดองทางการเมืองทั้งสิ้น ในสายตาของศาลซึ่งดำเนินการต่อคนเหล่านั้นตามขั้นตอนและกฎหมายเท่านั้น"

นั่นเป็นความเท็จ ในความเป็นจริง รัฐบาล ฮุน เซน ใช้ระบบตุลาการของกัมพูชาจัดการกับฝ่ายค้านทางการเมืองของตนมาโดยตลอด และในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น มีการคาดไว้ว่า ฮุน มาเนต บุตรชายของ ฮุน เซน จะขึ้นมาคุมรัฐบาลแทนบิดาด้วย

แม้ สก อีสาน จะอ้างว่า ฝ่ายตุลาการนั้นมีความเป็นกลาง นักวิเคราะห์ได้จัดอันดับให้กัมพูชาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีหลักนิติธรรมเลวร้ายที่สุดไปแล้ว

กลุ่มสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันที่ 12 มกราคมว่า “ทางการกัมพูชากำจัดเสรีภาพทางประชาธิปไตยที่มีเหลืออยู่ไม่มากในประเทศด้วยการก่อกวน ข่มขู่ และดำเนินคดีต่อนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นและสมาชิกของพรรคแสงเทียนที่เป็นฝ่ายค้าน ด้วยข้อหาอาญาปลอม ๆ”

การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชานั้นมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ขณะที่ ฮุน เซน ซึ่งปกครองประเทศมาถึง 37 ปี เดินหน้าสร้างวาทศิลป์ต่าง ๆ มากมายออกมาโจมตีคู่แข่งทางการเมืองในพรรคแสงเทียนซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านหลักแล้ว

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ฮุน มาเนต ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพกัมพูชาอยู่แล้ว ถูกปลุกปั้นให้เตรียมตัวมารับช่วงต่อบิดามานานแล้ว และสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลกรุงพนมเปญก็ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้กันถ้วนหน้า อย่างเช่น Khmer Times ออกบทความเป็นซีรีส์ 3 ตอนเกี่ยวกับประวัติของว่าที่ผู้นำประเทศคนใหม่ ที่ชื่อ “ทำไม ฮุน มาเนต ถึงเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต” เป็นต้น

เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ฮุน เซน ออกมาเตือนว่า “สงครามจะปะทุออกมา ถ้าพรรค CPP ไม่ได้ปกครอง(ประเทศ)”

Cambodia's Prime Minister Hun Sen holds a news conference after the ASEAN summit in Phnom Penh on November 13, 2022. (Cindy Liu/Reuters)
Cambodia's Prime Minister Hun Sen holds a news conference after the ASEAN summit in Phnom Penh on November 13, 2022. (Cindy Liu/Reuters)

เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ฮุน เซน ขู่ด้วยว่า จะยุบพรรคการเมืองใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ สม รังสี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party – CNRP)

ทัค เสธธา นั้นเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรค CNRP โดยในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2017 พรรค CNRP ได้รับเสียงสนับสนุนถึง 44% จากผู้ที่มาลงคะแนนเสียง แม้กลุ่ม HRW จะรายงานว่า สภาพแวดล้อมของการใช้สิทธิ์ครั้งนั้นดูจะมีความ “เป็นอริศัตรูต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง”

หลังจากนั้น เขม โสกา หัวหน้าพรรค CNRP ก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏ และในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ศาลสูงของกัมพูชาก็พิพากษายุบพรรคนี้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เสนอรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา กล่าวว่า พรรค CNRP “ถูกยุบอย่างไม่ยุติธรรมด้วยคำสั่งฝ่ายตุลาการ ... นำมาซึ่งการบิดเบือนทางการเมืองและอื่น ๆ ที่บั่นทอนเสียงเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยแบบพหุนิยม”

การยุบพรรค CNRP นั้นทำให้กัมพูชากลายมาเป็นประเทศที่มีรัฐบาลพรรคเดียวปกครองทันที โดยพรรค CPP ของ ฮุน เซน นั้นได้เสียงทั้งหมด 125 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2018 ไปโดยปริยาย ขณะที่ ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติต่างระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีเสรีภาพหรือไม่ก็ไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ การยุบพรรค CNRP สอดคล้องกับการดำเนินคดีแบบหมู่กับสมาชิกพรรค CNRP หลายคนด้วย

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ของปีที่แล้ว ผู้นำพรรค CNRP และนักเคลื่อนไหวทั้งหมด 36 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในข้อกล่าวหาว่า พยายามช่วยสมาชิกพรรค CNRP อื่น ๆ ที่ถูกเนรเทศไปต่างประเทศให้กลับมายังกัมพูชา

องค์การด้านสิทธิมนุษยชน Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า บทสรุปของคดีที่ว่านี้ เป็น “คำพิพากษาที่ 4 ในการดำเนินคดีหมู่ 5 ครั้งที่มีการดำเนินการต่อผู้นำและผู้สนับสนุนพรรค CNRP ทั้งหมด 158 คนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2020”

พรรคแสงเทียนซึ่งถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 และกลับมาสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2021 เท่านั้น

และหลังออกคำขู่ออกมาแล้ว ฮุน เซน ก็เร่งสร้างวาทศิลป์ของตนออกมาตลอด โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้นำกัมพูชากล่าวว่า ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรค CPP จะต้องเลือกระหว่างศาลและความรุนแรงด้วย

ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคมว่า “คุณ(ต้อง)เลือกเจอการดำเนินการทางกฎหมาย หรือ ผมจะระดมชาว CPP ให้ออกมาชุมนุมและซัดพวกคุณให้หมด”

ทั้งนี้ ทัค เสธธา ไม่ใช่สมาชิกพรรคแสงเทียนเพียงรายเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านกฎหมายที่สืบเนื่องมาจากการดำเนินการข่มขู่ของ ฮุน เซน

ไม่กี่วันหลังจากออกมากล่าวสุนทรพจน์ที่ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงกันข้ามแล้ว ฮุน เซน ก็เรียกร้องให้ กง กอม ที่ปรึกษาพรรคแสงเทียนส่งคืนบ้านของตนให้รัฐบาลภายใน 1 เดือน ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ปะทุออกมาครั้งแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980

กง กอม ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนักการทูต เป็นบิดาของ กง โมนิกา เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคแสงเทียนด้วย

เมื่อต้นเดือนนี้ กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชายื่นฟ้องคดีมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อ กง กอม โดยอ้างว่า อดีตรมช.รายนี้ได้โฉนดที่ดินที่เป็นที่ตั้งของบ้านของตนมาด้วยการฉ้อฉล โดยคดีนั้นถูกยกฟ้องหลังจาก กง “ตกลง” ที่จะคืนที่ดินที่ว่าให้กับรัฐไป

กึม ซก นักวิจารณ์การเมือง บอกกับ Radio Free Asia ซึ่งเป็นสื่อภายใต้หน่วยงาน USAGM ของรัฐบาลสหรัฐฯ เหมือนกับ วีโอเอ ว่า กง กอม ยอมยกที่ดินคืนรัฐบาล “เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงโทษจำคุกหรือภัยคุกคามความปลอดภัยของตน”

กง กอม ยังถูกฟ้องในข้อหาปลุกระดมซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี หลังออกมาเปรย ๆ ว่า พรรค CPP นั้นมีรากฐานมาจากต่างประเทศ (สม รังสี เคยอ้างไว้ก่อนหน้านี้ว่า พรรค CPP ถูกตั้งขึ้นโดยโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์เวียดนาม)

สน ไชย รองประธานพรรคแสงเทียนยังถูกสั่งให้ชำระค่าเสียหายราว 1 ล้านดอลลาร์ ให้กับพรรค CPP หลังออกมาอ้างว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2022 นั้นเต็มไปด้วยความผิดปกติในการลงคะแนนและการทุจริตการเลือกตั้ง

HRW ระบุในรายงาน World Report ประจำปี 2023 ว่า “รัฐบาลทำการกีดขวางและก่อกวนสมาชิกพรรคแสงเทียนที่กลับมาเริ่มทำงานกันใหม่” ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนของปีที่แล้วนั่นเอง:

“ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 ทางการได้ละเมิดสิทธิ์ของสมาชิกพรรคแสงเทียนที่เป็นฝ่ายค้าน ด้วยการถอดผู้สมัครออกจากรายชื่อของคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติกัมพูชา จับกุมนักเคลื่อนไหวของพรรค ข่มขู่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งให้ถอนตัวออกหรือไม่ก็รับข้อหาอาญาปลอม ๆ และการฟ้องร้อง รวมทั้งการแทรกแซงกระบวนการหาเสียงด้วย โดยแม้จะมีอุปสรรคมากมายดังว่า พรรคแสงเทียนได้รับคะแนนเสียงสัดส่วน 18% จากทั่วประเทศ – แต่นั่นก็หมายถึงตำแหน่งหัวหน้าเขตเพียง 4 ตำแหน่งจากทั้งหมด 1,652 ตำแหน่งที่มีการเลือกตั้ง”

พรรคแสงเทียนได้ออกมาบอกแล้วว่า ตนจะไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้ายังมีการข่มขู่ “รุนแรง” ต่อทางพรรคต่อไป

โฆษกรัฐบาลรายหนึ่งยืนยันว่า การเลือกตั้งในปีนี้จะ “มีเสรีและยุติธรรม” โดยไม่ต้องมีพรรคแสงเทียนเข้าร่วม และเสริมด้วยว่า “ถ้าพวกเขา (พรรคแสงเทียน) ไม่เข้าร่วมชิงเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า พวกเขาดูถูกคุณค่าของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างประชาธิปไตยและแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มประชาธิปไตยที่แท้จริง”

แต่สมาชิกรัฐสภาต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ตัว ฮุน เซน เองนั่นแหล่ะ คือ ผู้ที่ทำร้ายประชาธิปไตย

เมอร์ซี บาเรนด์ส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียและสมาชิกคณะกรรมการรัฐสภาอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “คำขู่ในความรุนแรงทางกายภาพ โดยเฉพาะจากชายที่ปกครองประเทศของตนมาเกือบ 4 ทศวรรษและเปลี่ยนมาเป็นระบอบเผด็จการ ควรทำให้ทุกคนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยเสียวสันหลังกันทั้งนั้น”

เธอกล่าวด้วยว่า “ฮุน เซน และรัฐบาลของเขามีประวัติยาวนานเรื่องการปิดปาก ก่อกวน และข่มเหงฝ่ายตรงกันข้าม และคำขู่ของเขาก็เป็นไปในทิศทางเช่นนั้นด้วย เขาควรถูกประณามอย่างเปิดเผยต่อการค่อย ๆ ทำลายสถาบันด้านประชาธิปไตยในกัมพูชา”

องค์กรตรวจสอบเฝ้าระวัง Freedom House ประเมินกัมพูชาว่า “ไม่มีอิสรภาพ” โดยทางกลุ่มระบุเกี่ยวกับระบบศาลของกัมพูชาในข้อมูลประเทศดังนี้:

“(ระบบ)ตุลาการนั้นเต็มไปด้วยคอร์รัปชันและขาดซึ่งความเป็นอิสระ ผู้พิพากษาเปิดทางให้รัฐบาลสามารถดำเนินคดีต่าง ๆ กับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

“สิทธิตามกระบวนการอันชอบธรรมก็ไม่ได้รับการส่งเสริมในกัมพูชา การที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและผู้พิพากษาใช้อำนาจในทางที่ผิดยังคงเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมาก การไต่สวน(คดี)ปลอม ๆ ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะที่ ผู้มีชื่อเสียงมักจะไม่ต้องรับโทษใด ๆ”

สิ่งที่ Freedom House ระบุนั้นสอดคล้องกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ทัค เสธธา

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ HRW ภาคพื้นเอเชีย บอกกับฝ่าย Polygraph ว่า เรื่องที่ฟังแล้วน่าขันก็คือ มีแต่ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้นที่ถูกจับกุมและสอบสวนในข้อหาคอร์รัปชัน “ในประเทศอย่างกัมพูชาที่มีเหตุคอร์รัปชันในกลุ่มรัฐมนตรีเต็มไปหมด

“นี่คือการบังคับใช้แบบมีการเลือกปฏิบัติ เหมือนมีการแอบซ่อนการก่อกวนข่มขู่ทางการเมืองไว้ ... ทัค เสธธา ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อที่ตนเผชิญ แต่ไม่ว่าตำรวจหรือศาลก็ไม่ได้จะยอมฟังคำปฏิเสธของเขา ตราบใดที่ผู้นำอาวุโสทางการเมืองอ้างว่า เขาทำผิดแน่ ๆ”

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG