การแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ อาจจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งของโลกในขณะนี้ แต่ในทะเลทรายที่ห่างจากกรุงโดฮา เมืองหลวงของประเทศออกไปเพียง 25 กิโลเมตร ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างสีสันได้ไม่แพ้กัน นั่นคือ การประชันโฉมของอูฐ
การประกวดอูฐ แห่ง ซาเยน เวิร์ลด์ คัพ (Mzayen World Cup) เป็นส่วนผสมของการประกวดสัตว์เลี้ยงและการประกวดนางงาม ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงกีฬาและเยาวชนของกาตาร์และคณะกรรมการท้องถิ่นในการจัดงานฟุตบอลโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมให้กับแฟนบอลที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ
ในการประกวดครั้งนี้ นาซา (Nazaa) อูฐขนสีอ่อน ที่โดดเด่นด้วยความสวยสะดุดตา บุคลิกสง่า และกริยาที่เรียบร้อย เป็นผู้คว้ามงกุฎนางงามอูฐไปครอบครอง หลังจากที่ต้องฝ่าฟันแข่งขันกับอูฐอีกหลายร้อยตัวในรอบอื่น ๆ ก่อนหน้านี้
ในรอบสุดท้ายนี้ นาซาต้องแข่งกับอูฐอีก 15 ตัว โดยการเดินโชว์ตัวไปรอบ ๆ และสวมใส่ปลอกคอและสายรัดเครื่องประดับ ซึ่ง จาซิม อัล คูวารี สมาชิกของครอบครัวที่เป็นเจ้าของนาซากล่าวว่า เขาคิดว่า นาซานั้นเก่งกว่า คริสเตียโน โรนัลโด้ และ ลิโอเนล เมสซี นักเตะชื่อดังของทีมชาติโปรตุเกสและอาร์เจนตินาเสียอีก
การประกวดอูฐงามมีขึ้นเป็นประจำในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมีความผูกพันกับอูฐยาวนานหลายชั่วชีวิตคน
“นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา” อัล คูวารีกล่าว และยังเสริมว่า “เราชอบอูฐเหล่านี้ เราตั้งชื่อให้พวกเขา เพราะเราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน”
ผู้ที่มาเข้าชมการประกวด จะได้รับการต้อนรับด้วยจิงเกิลเพลง “ยินดีต้อนรับสู่การประกวดอูฐ” (Welcome to the Camel Competition) พร้อมกับการเสิร์ฟ คารัก (Karak) ชาเครื่องเทศผสมนม ส่วนเจ้าของอูฐและครอบครัวนั้นจะนั่งบนเก้าอี้กำมะหยี่สีแดงในเต๊นท์หรูติดเครื่องปรับอากาศ ขณะชมการประกวด
ความน่าสนใจของการประกวดอยู่ที่อูฐตัวเมียเพียวเบรด (pure-bread) หรืออูฐที่เกิดจากการผสมในสายพันธุ์เดียวกัน อูฐผู้เข้าแข่งขันแต่ละตัวจะต้องเดินผ่านหน้าผู้ชมหลายรอบ ส่วนกองเชียร์ก็จะส่งเสียงเชียร์อูฐที่ตนชอบ นอกจากนี้ยังมีการประกวดการรีดนมอูฐ โดยอูฐที่สามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุดจะได้เป็นผู้ชนะอีกด้วย
การประกวดนางงามอูฐเป็นงานที่ผู้จัดเอาจริงเอาจัง ถึงขนาดมีหมอประจำการแข่งขัน ที่จะคอยตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า อูฐที่เข้าชิงมงกุฎไม่ได้ใช้สารเติมเต็มผิวอย่าง ฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์เสริมความงามให้เกินจริง ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา อูฐหลายสิบตัวถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดความงามอูฐใน เทศกาลอูฐของกษัติริย์อับดุลอาซิส (King Abdulaziz Camel Festival) ในประเทศซาอุดิอาระเบียโทษฐานที่แอบไปอาศัยมีดหมอเสริมความงามมาก่อน
นอกจากนี้ ผู้คว้ามงกุฎ รองชนะเลิศอันดับที่หนึ่งและสอง ยังได้รับถ้วยรางวัลอีกด้วย ในปีนี้ นาซา ผู้ชนะ ได้เงินรางวัลไป 200,000 ริยัลกาตาร์ หรือประมาณ 1.9 ล้านบาท ส่วนอูฐที่ผลิตนมได้มากที่สุด จะได้รับรางวัล 15,000 ริยัลกาตาร์หรือประมาณ 143,000 บาท
ฮามาด อัล เกรสซี กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า เขาใช้ชีวิตร่วมกับอูฐและไปงานประกวดอูฐมาตั้งแต่ยังเด็ก “เรามีอูฐมาก่อนที่เราจะมีเครื่องบินหรือมีรถยนต์เสียอีก เราเรียกอูฐว่า เรือแห่งทะเลทราย แต่หลังจากที่เรามียานพาหนะสมัยใหม่ อูฐก็ได้รับความนิยมน้อยลงไป แต่อูฐยังมีความสำคัญมากในวัฒนธรรมของเรา”