องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนชื่อเรียกฝีดาษลิงหรือ 'monkeypox' มาเป็น 'เอ็มพ็อกซ์' (mpox) โดยให้เหตุผลว่า ชื่อเดิมอาจสื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติ ตามรายงานของเอพี
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) กล่าวในแถลงการณ์วันจันทร์ว่า จะเริ่มใช้ชื่อ 'เอ็มพ็อกซ์' ในปีหน้า โดยขณะนี้โรคดังกล่าวได้แพร่ไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
ประเทศต่าง ๆ และคนจำนวนมากเรียกร้องให้ WHO ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ เสนอชื่อเรียกใหม่แทน 'monkeypox' ที่ถูกระบุเมื่อเดือนสิงหาคมโดยสหประชาชาติว่า เป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินระดับโลก
มีคนติดเชื้อฝีดาษลิงไปแล้วกว่า 80,000 ราย ในประเทศที่ก่อนหน้านี้ไม่พบโรคดังกล่าวที่มีความคล้ายไข้ทรพิษ
ก่อนหน้านี้ ฝีดาษลิงซึ่งเชื่อว่าเริ่มต้นขึ้นจากสัตว์ ไม่เคยมีประวัติระบาดใหญ่ นอกเขตเเอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกจนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปีนี้
จากนั้น การระบาดพบนอกแอฟริกา คือเกิดขึ้นในยุโรปโดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีจุดแพร่เชื้อมาจากงานปาร์ตี้ในเบลเยียมและสเปนผ่านเพศสัมพันธ์ และเกือบทั้งหมดของการติดเชื้อนอกแอฟริกาพบในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
ปัจจุบันการเเจกจ่ายวัคซีนในประเทศรายได้สูง และมาตรการควบคุมการระบาดอื่น ๆ ช่วยยับยั้งการติดต่อที่ขยายวงกว้างหลังจากที่ฤดูร้อนที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก
การเสียชีวิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแอฟริกา ซึ่งแทบไม่มีวัคซีนต้านฝีดาษลิง
ฝีดาษลิง ถูกเรียกขานว่า 'monkeypox' เป็นครั้งเเรกเมื่อ 64 ปีก่อน และการเปลี่ยนชื่อมาเป็น 'เอ็มพ็อกซ์' ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าเป็นครั้งเเรกที่ WHO ใช้ชื่อใหม่กับโรคที่มีชื่ออยู่ก่อนเเล้วเป็นเวลาหลาย 10 ปี ตามรายงานของเอพี
ปัจจุบันยังคงมีโรคหลายชนิด ที่ส่วนหนึ่งของชื่อเป็นคำเรียกสถานที่ตามภูมิศาสตร์และอาจสร้างกังวลว่าก่อให้เกิดอคติต่อคนจากพื้นที่เหล่านั้น เช่น 'หัดเยอรมัน' (German measles) และ 'โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง' (Middle Eastern Respiratory Syndrome)
อย่างไรก็ตาม WHO ไม่เคยเสนอให้เปลี่ยนชื่อโรคเหล่านี้
- ที่มา: เอพี