ผู้คนจำนวนมากขึ้นหันมาติดตั้งกริ่งประตูประเภทที่มีกล้องวิดีโอ รวมถึงกล้องวงจรปิดทั้งในและรอบตัวบ้านเพื่อความปลอดภัย รวมถึงป้องกันผู้บุกรุก ผู้ใช้งานจำนวนมากรู้สึกอุ่นใจที่ใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อุปกรณ์นี้จะมียอดขายทั่วโลกที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีบางส่วนมองว่าภาพที่ถ่ายได้จากอุปกรณ์นี้กำลังถูกนำไปใช้เพื่อสร้างอคติต่อคนบางกลุ่ม
เมื่อต้นปีนี้ เคนเนดี แนช เด็กหญิงอายุ 6 ปี กำลังทิ้งขยะบริเวณหน้าบ้าน ปรากฏว่าคนแปลกหน้าจู่โจมเข้ามาจับตัว และพยายามจะลากเธอออกไป แต่เด็กสาวสามารถหนีจนหลุดออกมาได้
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกด้วยกล้องวิดีโอของกริ่งประตูที่ครอบครัวติดตั้งไว้ ซึ่งภาพวิดีโอนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานส่งมอบให้แก่ตำรวจ จนนำไปสู่การจับกุมชายที่กระทำความผิด
แมนดี มิลเลอร์ แนช คุณแม่ของเด็กสาว เล่าให้ฟังว่า “ลูกสาววิ่งเข้ามาในบ้านพร้อมกับกรีดร้องเสียงดัง ฉันรู้ทันทีว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้น และลูกสาวก็บอกว่ามีคนพยายามจะจับและลักพาตัวเธอ จากเหตุการณ์นี้ ฉันรู้สึกขอบคุณ กล้องกริ่งประตูอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีภาพจากกล้องวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน คิดว่าคงเป็นการยากที่จะทำให้ใครเชื่อเราได้”
กริ่งประตูแบบมีกล้องวิดีโอ เป็นที่แพร่หลายในชุมชนประเทศสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ที่อุปกรณ์เหล่านี้ใช้บันทึกภาพขณะที่เกิดอาชญากรรม แต่กล้องตามหน้าประตูยังช่วยยับยั้งการเกิดเหตุร้ายได้อีกด้วย
กล้องบางรุ่นมาพร้อมความสามารถในการตรวจจับความเคลื่อนไหว ที่ช่วยเปิดไฟ ส่งการแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบ้านให้เปิดสัญญาณเตือนภัย รวมถึงสามารถเตือนผู้บุกรุกว่ากำลังถูกบันทึกภาพวิดีโออยู่ และอุปกรณ์บางรุ่น เจ้าของบ้านสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้บุกรุกได้ในทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าจะอยู่ไกลจากบ้านก็ตาม
จอช รอธ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัท Ring ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Amazon เค้ากล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือการทำให้พื้นที่ชุมชนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าในขณะที่คุณจะอยู่ในบ้าน หรือว่าไกลจากบ้าน ทุกคนจะรู้สึกอุ่นใจที่มีระบบช่วยปกป้องครอบครัวของคุณ”
ในอีกแง่หนึ่ง ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีอุปกรณ์วิดีโอเฝ้าระวังตามประตูบ้าน เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น ผู้คนบางส่วนมองว่าภาพถ่ายวิดีโอที่บันทึกได้ อาจถูกนำมาใช้เพื่อโพสต์ตามโซเชียล จนนำไปสู่การตอกย้ำทัศนคติด้านเชื้อชาติแบบเหมารวม ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ย้ายมาใหม่ รู้สึกไม่ค่อยได้รับความมิตรในละแวกดังกล่าว
นิโคล เทอร์เนอร์ ลี นักวิชาการอาวุโส จากสถาบัน Brookings Institution ที่ตั้งในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว VOA ว่า “สมมติฐานที่มีมาแต่ในอดีต ที่เราไม่คาดหวังที่จะเห็นคนบางกลุ่มอยู่ในบ้านตอนเวลา ตี 2 แต่ในความเป็นจริงเราก็ไม่คาดคิดที่จะเห็นคนกลุ่มนี้อยู่ในบ้านตอนเวลา 10 โมงเช้าเช่นกัน ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าคนกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่เพื่อนบ้านแบบที่เราคุ้นเคย แม้คุณจะมีกล้องวิดีโอคอยบันทึกภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็นตำรวจของคนในพื้นที่”
เทอร์เนอร์ ลี สนับสนุนให้มีการบังคับผู้ใช้งานกริ่งประตูที่มีกล้อง อย่างเช่น กริ่งประตู Ring ต้องมีป้ายแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่าพื้นที่รอบบ้านอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังความปลอดภัย และผู้ใช้งานควรที่จะตระหนักและระมัดระวังในประเด็นเรื่องความอคติที่อาจเกิดขึ้นได้ จากภาพที่มองเห็นผ่านกล้อง
- ที่มา: วีโอเอ