ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ พรรครีพับลิกันคาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “คลื่นสีแดง” สีที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งสะท้อนถึงแรงหนุนจากประชาชนให้ผู้แทนจากพรรครีพับลิกันเข้าไปนั่งในสภาสหรัฐฯ กันคึกคักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในช่วงที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันปฏิเสธเสียงข้างมากจากฝั่งเดโมแครต หลังความล้มเหลวในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้นจนจนน่ากังวลในอเมริกา
ทว่า ความจริงที่เกิดขึ้นกลับแตกต่างจากการคาดการณ์อยู่มาก ในช่วงเช้าวันพุธ หลังการเลือกตั้งกลางเทอมผ่านพ้นไปได้หนึ่งคืน เพราะแทนที่กระแสการต่อต้านจะเกิดขึ้นแบบถล่มทลาย เพื่อสะท้อนถึงผลงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครตของเขา แต่ผลการเลือกตั้งที่เริ่มออกมากลับให้ผลที่ยากจะตีความ
สำนักข่าวเอพีรวบรวมประเด็นสำคัญในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่คอการเมืองอเมริกันต้องเกาะติดใกล้ชิด
โปรดติดตามตอนต่อไป ...
ขณะที่ฝั่งรีพับลิกันหวังชัยชนะแบบถล่มทลายแต่กลับไม่ได้ดังคาดฝัน หลังพรรคเดโมแครตเอาชนะในหลายพิกัดที่เป็นพื้นที่สมรภูมิ ในขณะที่ชะตาของพรรคเดโมแครนในสภาสูงนั้นยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน
ตัวแทนจากพรรคเดโมเครตหลายคนแสดงผลงานเกินความคาดหมายในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะรองผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย จอห์น เฟตเตอร์แมน จากพรรคเดโมแครต เอาชนะคู่แข่งคนดังจากรีพับลิกัน คว้าเก้าอี้ ส.ว. ที่เปิดว่างไว้และเคยเป็นของรีพับลิกันมาได้ ส่วนการขับเคี่ยวในรัฐสมรภูมิอื่น ๆ ยังยากที่จะคาดเดา
ขณะที่รัฐแอริโซนาและเนวาด้า ซึ่งเป็นพิกัดรัฐสมรภูมิที่กำหนดว่าพรรคใดจะได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจยังไม่รู้ผลในอีกหลายวัน เพราะทั้งสองรัฐต่างยังต้องนับคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ใช้เวลานานในการนับคะแนน
ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์เพราะเหตุผลบางอย่าง เนื่องจากตามประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน พบว่า พรรคของประธานาธิบดี มักจะเผชิญกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วง 2 ปีจากนั้น
ทั้งจากประวัติศาสตร์การเมือง พ่วงด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่ถูกปกคลุมด้วยปัญหาเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอย และความกังวลเรื่องอาชญากรรม ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าผลการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปในทิศทางเช่นนั้น
โดยนับตั้งแต่ปี 1906 มีการเลือกตั้งกลางเทอมเพียง 3 ครั้ง ที่พรรคของประธานาธิบดียังคงได้เสียงข้างมากในสภา คือในปี 1934 ในช่วงที่อเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 1988 ที่สหรัฐฯ อยู่ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู และในปี 2002 ในช่วงที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้รับคะแนนนิยมพุ่งทะลุปรอทจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001
ฟลอริดายังเป็นรัฐสมรภูมิอยู่หรือไม่?
ผู้ว่าการรัฐ รอน เดอซานติส และวุฒิสมาชิก มาร์โก รูบิโอ จากพรรครีพับลิกันทั้งคู่ เป็นหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐฟลอริดาเริ่มเป็นรัฐสีแดงขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่รัฐนี้เคยเป็นรัฐสมรภูมิในยุคแรกเริ่ม เพราะเป็นรัฐที่หนุนให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว
ฟลอริดาในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีแนวคิดสนับสนุนเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกันในปี 2020 ได้เริ่มเปลี่ยนไปในแนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น จากแรงหนุนของกลุ่มที่สนับสนุนรีพับลิกันอย่างเหนียวแน่น กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเชื้อสายฮิสแปนิก และคลื่นพลเมืองหน้าใหม่ที่เป็นคนวัยเกษียณที่ย้ายสำมะโนครัวมายัง Sunshine State แห่งนี้
ชัยชนะของเดอซานติส ที่ได้เป็นผู้ว่าการรัฐเมื่อปี 2018 ด้วยคะแนน 30,000 เสียง แต่ในศึกเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อวันอังคาร เขาได้รับชัยชนะในอย่างน้อย 6 เขตปกครองที่เขาพ่ายแพ้เมื่อ 4 ปีก่อน และเป็นพิกัดที่ปธน.ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปธน.เมื่อ 2 ปีที่แล้วอีกด้วย ขณะที่ฝั่งเดโมแครตอ้างว่า ความปราชัยในรัฐนี้มาจากการลงทุนที่น้อยมากจากทางพรรคในการเลือกตั้งกลางเทอม
คาร์โล เคอร์เบโล อดีตสมาชิกสภาจากพรรครีพับลิกัน เรียกรัฐฟลอริดาว่า “หลุดจากแผนที่ของเดโมแครตในอนาคตอันใกล้” และว่า “พรรคเดโมแครตต้องกลับมาคิดว่าจะสร้างฐานเสียงขึ้นมาใหม่ที่นี่ได้อย่างไร เพราะแนวร่วมโอบามาของรัฐนี้ไม่มีอยู่แล้ว”
คลื่นสีแดง หรือ แค่แรงกระเพื่อม?
ยังยากที่จะตัดสินในอีกระยะไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จนกว่าการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์จะเสร็จสิ้น อย่างที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแล้วเสร็จ
แต่สิ่งที่แน่ชัดอย่างหนึ่ง คือ จะไม่เกิดชัยชนะของรีพับลิกันแบบถล่มทลายเหมือนในปี 2010 หรือในปี 1994 นั่นเป็นเพราะว่า ไม่ค่อยมีสนามที่ขับเคี่ยวกันมากนักในปีนี้ ขณะที่ผลลัพธ์ปลายทางไม่ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็คือ การประนีประนอมที่ลดลง และการติดขัดงัดข้อที่ในสภาที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้านั่นเอง
เลือกตั้งกลางเทอมที่ ‘แพงที่สุด’ ในประวัติศาสตร์
ข้อมูลจาก OpenSecrets ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2022 นี้ เตรียมทะยานแตะ 16,700 ล้าน ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งกลางเทอมที่แพงที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ซึ่งมากกว่าการจัดเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 2014 เกือบเท่าตัว และเกือบเท่ากับผลผลิตมวลรวมของมองโกเลียในปีนี้ทีเดียว
- ที่มา: เอพี