เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ประเมินว่าระบบบริหารจัดการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนอเมริกันมีความปลอดภัย ขณะที่สหรัฐฯ จะจัดเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้
เจ้าหน้าที่เหล่านี้แสดงความมั่นใจในระบบจัดการเลือกตั้ง แต่เตือนถึงอันตรายที่อาจจะมาจากความพยายามของรัสเซียและจีนในการจูงใจให้ชาวอเมริกันเชื่อว่าระบบการจัดเลือกตั้งไม่ปลอดภัย
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ความพยายามของกลุ่มที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐที่ต้องการเจาะล้วงระบบเลือกตั้งสหรัฐฯ ในอดีต ดูเหมือนว่า จะถูกสกัดกั้นไว้อย่างได้ผล ณ เวลานี้
เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์กล่าวไม่นานนี้ว่า ไม่พบว่ามีผู้ดำเนินการที่มุ่งเป้าอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อโจมตีทางไซเบอร์ต่อการเลือกตั้งของสหรัฐฯที่จะมาถึง
แต่เจ้าหน้าระดับสูงของเอฟบีไอ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่งกล่าวว่า “เรากังวลว่ามีผู้ดำเนินการทางไซเบอร์ที่ประสงค์ร้าย ที่อาจจะนำการกล่าวอ้างที่เกินจริงหรือข้อมูลเท็จ ไปเผยแพร่หรือขยายผลว่าระบบพื้นฐานที่ใช้รองรับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีปัญหา”
แหล่งข่าวจากเอฟบีไออีกรายหนึ่งกล่าวว รัสเซีย จีน รวมถึงอิหร่านจะ “ฉวยโอกาสจากคำถามเกี่ยวกับความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง” เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าวว่า “เราเห็นการกระทำเช่นนี้แล้วโดยเฉพาะจากรัสเซีย”
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันจันทร์ องค์กร Election Integrity Partnership หรือ EIP ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองใด เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า นักข่าวที่ทำงานให้กับสื่อทางการรัสเซียคนหนึ่ง ส่งทวีตหลายข้อความ ที่สื่อว่า เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งของสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการถูกแฮ็คและการถูกบิดเบือนผลวิธีอื่น ๆ
EIP ระบุว่าทวีตเหล่านั้นมุ่งหวังที่จะบั่นทอนความชอบธรรมของกระบวนการประชาธิปไตยสหรัฐฯ ขณะที่หนุนการทำประชามติโดยรัสเซียเพื่อผนวกดินแดนบางส่วนของยูเครน
EIP ระบุว่าคำพูดลักษณะนี้ ถูกแปลและแชร์ต่อในหลายภาษา ไม่ใช่แค่เพียงภาษาอังกฤษ แต่รวมถึงญี่ปุ่น อิตาลีและสเปนด้วย
วีโอเอพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ตัวแทนทางการทูตในสหรัฐฯ ของรัสเซีย จีนและอิหร่านแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ เมื่อนำเสนอรายงานชิ้นนี้
อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวเอพีรายงานในวันอังคารว่า เอกสารข่าวกรองของสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งระบุว่า จีนอาจจะพยายามหาทางดำเนินการเพื่อส่งผลต่อการเลือกตั้งในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ “เพื่อขัดขวางผู้ลงแข่งที่ถูกมองว่าต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งอย่างเฉพาะเจาะจง”
ในเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นคำแนะนำจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ส่งไปยังเจ้าหน้าที่ระดับรัฐและองค์กรท้องถิ่น ฝ่ายข่าวกรองเชื่อว่า จีนมองความเสี่ยงในการแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ ช่วงเลือกตั้งกลางเทอมว่ามีน้อยกว่าการแทรกแซงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตามรายงานของเอพี
ที่ผ่านมา ทางการจีนและรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีน ว่าได้จ้างนักสืบเอกชนรายหนึ่งให้สร้างความปั่นป่วนต่อการหาเสียงเลือกตั้งของคนเชื้อสายจีนผู้ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งได้สัญชาติอเมริกันและประกาศเล่นการเมืองโดยต้องการเป็นส.ส.สหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้ปฏิบัติการข่าวสารแทรกแซงการเมืองกล่าวถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อกระบวนการประชาธิปไตย
คอนนี ยูธอฟฟ์ รองผู้อำนวยการโครงการ Cybersecurity Strategy and Information Management ของมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน บอกกับวีโอเอผ่านอีเมล์ว่า ข้อมูลบิดเบือนอาจเป็นสิ่งที่สร้างความแตกแยกในสังคมและก่อให้เกิดความรุนแรง
ส่วนเกล็นน์ เกิร์สเทลล์ อดีตเจ้าหน้าที่กฎหมายของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ U.S. National Security Agency กล่าวว่า เมื่อการสร้างกระแสสังคม จนมีประชาชนจำนวนมากพอที่กังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมของผลเลือกตั้ง อาจเกิดสถานการณ์ “สยดสยอง” อย่างเช่นการบุกอาคารรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันที่ 6 มกราคมปีที่แล้ว
“เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลโดยตรงกับการสร้างข้อมูลบิดเบือนโดยต่างชาติ แต่สามารถชี้ได้อย่างชัดเจนว่า การแพร่ข้อมูลบิดเบือนโดยต่างชาติมีบทบาทในการขยายผลของการแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จจากภายในประเทศ” เกิร์สเทลล์ กล่าว
- ที่มา: วีโอเอ, เอพี