ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพัฒนาวิธีการใช้ AI ตรวจหาโรคพาร์กินสัน


FILE - Microscopic slides of human brain are seen at the Multiple Sclerosis and Parkinson’s UK Tissue Bank at Imperial College London, Britain, June 3, 2016.
FILE - Microscopic slides of human brain are seen at the Multiple Sclerosis and Parkinson’s UK Tissue Bank at Imperial College London, Britain, June 3, 2016.

นักวิจัยชาวอเมริกันได้พัฒนาวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจหาโรคพาร์กินสัน ระบบดังกล่าวทำงานโดยการวัดรูปแบบการหายใจของบุคคลในระหว่างการนอนหลับ

การศึกษาที่อธิบายถึงวิธีการนี้ระบุว่า สามารถวัดความรุนแรงของโรคและบันทึกความก้าวหน้าของโรคได้ โดยการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Medicine ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้

นักวิจัยชี้ว่า สัญญาณเริ่มต้นของโรคพาร์กินสันนั้นไม่สามารถตรวจพบได้ง่าย เพราะสัญญาณหรืออาการต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นหลังจากที่โรคนี้ก่อตัวขึ้นเป็นเวลาหลายปีแล้วเท่านั้น

นักวิจัยได้ศึกษาวิธีการอื่น ๆ ในการระบุหรือตรวจหาโรคพาร์กินสันก่อนที่จะมีโอกาสพัฒนา ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบของเหลวในสมองหรือภาพสมองด้วย แต่วิธีการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ทีมวิจัยกล่าวว่า ระบบที่ใช้เทคโนโลยี AI แบบใหม่นั้นเรียบง่ายและสามารถตรวจจับโรคได้ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา

ทั้งนี้ พาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทที่สร้างความเสียหายต่อสมอง มักทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเดินของผู้ป่วยและทำให้ร่างกายสั่น นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวนมากยังประสบปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาการนอนหลับอีกด้วย

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก จำนวนผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีผู้คนมากกว่า 8.5 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นโรคพาร์กินสัน เนื่องจากโรคนี้มีผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นการรับมือกับโรคนี้อาจเป็นการสร้างแรงกดดันต่อการดูแลรักษาและต่อผู้ให้การแลแต่ละคนด้วย

วิธีการของเทคโนโลยี AI ที่ใช้ตรวจหาโรคพาร์กินสันนั้นได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ตลอดจนองค์กรด้านการศึกษาและสุขภาพอื่น ๆ

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะบันทึกข้อมูลการหายใจตอนกลางคืนของผู้เข้ารับการทดลอง ข้อมูลนี้รวบรวมโดยอุปกรณ์ที่วัดสัญญาณจากเซ็นเซอร์การหายใจหรือจากสัญญาณวิทยุในห้องจากนั้นข้อมูลจะถูกประมวลผลผ่านสิ่งที่นักวิจัยเรียกว่า "โครงข่ายประสาทเทียม" ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อจำลอง หรือเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์

ดีน่า คาตาบิ (Dina Katabi) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ MIT ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า การหายใจนั้นมีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสันมาโดยตลอด และว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างโรคพาร์กินสันกับการหายใจได้รับการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1817 ในงานศึกษาวิจัยของนายแพทย์ เจมส์ พาร์กินสัน

เธอกล่าวว่า ความเชื่อมโยงนี้ทำให้คณะนักวิจัยได้ "พิจารณาถึงศักยภาพในการตรวจหาโรคนี้จากการหายใจ โดยที่ไม่ต้องดูการเคลื่อนไหว" นอกจากนี้การศึกษาในอดีตยังแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการหายใจที่เชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสันนั้นสามารถปรากฏก่อนที่จะมีอาการอื่น ๆ ได้เป็นเวลาหลายปี ซึ่งหมายความว่าระบบ AI สามารถเป็นตัวพยากรณ์โรคในระยะเริ่มต้นได้

นักวิจัยใช้อัลกอริธึมในการทดสอบผู้ป่วยจำนวน 7,687 ราย รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันอยู่แล้วอีก 757 ราย โดยการศึกษาได้รวมข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ ตลอดจนข้อมูลสาธารณะอื่น ๆ อีกด้วย

การทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การนอนหลับเพียงแค่คืนเดียว ระบบ AI ก็สามารถตรวจพบโรคพาร์กินสันได้อย่างแม่นยำถึง 86% และด้วยข้อมูลการนอนหลับ 12 คืน อัตราดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 95% เลยทีเดียว

นักวิจัยกล่าวว่า ความเรียบง่ายของเครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้คนจำนวนมากสามารถรับการทดสอบโรคพาร์กินสันในบ้านของตัวเองได้ และว่า เครื่องมือนี้อาจสามารถช่วยเหลือผู้คนในชุมชนที่ด้อยโอกาส เช่นเดียวกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้

  • ที่มา: วีโอเอ, MIT, Nature Medicine
XS
SM
MD
LG