นักวิทยาศาสตร์ ย้ำว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ เร่งให้เกิดฟ้าผ่ามากขึ้นทั่วสหรัฐฯ หลังจากเหตุฟ้าผ่าหน้าทำเนียบขาวเมื่อค่ำวันพฤหัสบดี คร่าชีวิตสองสามีภรรยา และมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน ตามรายงานของเอพีและรอยเตอร์
คู่สามีภรรยาจากวิสคอนซิน ที่เดินทางมาฉลองครบรอบแต่งงานปีที่ 56 เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าบริเวณด้านหน้าทำเนียบขาวที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่อีก 2 ชีวิตที่ประสบเหตุฟ้าผ่าอาการสาหัส
เอพีรายงาน เจมส์ มูลเลอร์ วัย 76 ปี และดอนนา มูลเลอร์ วัย 75 ปี จากเจนส์วิลล์ รัฐวิสคอนซิน เสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว หลังถูกฟ้าผ่าบริเวณ Lafayette Park ด้านนอกทำเนียบขาว ตามการเปิดเผยของตำรวจท้องถิ่นในวันศุกร์ ขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 2 คนจากเหตุฟ้าผ่าในเวลาเดียวกันนี้
ทั้งนี้ เหตุฟ้าผ่าเกิดขึ้นช่วงค่ำวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐฯ พบผู้บาดเจ็บสาหัส 4 รายในเวลานั้น ก่อนที่สองสามีภรรยาจะเสียชีวิตในวันศุกร์ ด้านทำเนียบขาว แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุฟ้าผ่าบริเวณ Lafayette Park
สภาพอากาศร้อนชื้นอย่างมากในกรุงวอชิงตัน เป็นปัจจัยให้เกิดเหตุฟ้าผ่าในวันพฤหัสบดี อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯ
การศึกษาเมื่อปี 2014 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เตือนว่า อัตราการเกิดฟ้าผ่าในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 50% ภายในช่วงศตวรรษนี้ ขณะที่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะส่งผลให้มีฟ้าผ่ามากขึ้นราว 12%
ไม่เพียงในสหรัฐฯ เท่านั้น มีหลักฐานที่ชี้ว่า มีเหตุฟ้าผ่าเพิ่มขึ้นทั้งในอินเดียและบราซิลด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ผู้คนจะถูกฟ้าผ่าในอเมริกาถือว่าเป็นไปได้ยากมาก ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ โดยทุกปีจะมีฟ้าผ่าเฉลี่ยราว 40 ล้านครั้ง อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ซึ่งทำให้โอกาสที่จะถูกฟ้าผ่าในอเมริกานั้นอยู่ที่ต่ำกว่า 1 ในล้าน และในกลุ่มที่ถูกฟ้าผ่า ราว 90% จะรอดชีวิต และที่ผ่านมาในช่วงปี 2006-2021 สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่า 444 คน
สำหรับสหรัฐฯ ปัจจัยเรื่องความร้อนและความชื้นส่งผลให้เกิดฟ้าผ่าในหน้าร้อน ซึ่งรัฐฟลอริดาเป็นรัฐที่พบผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่ามากที่สุดในอเมริกา ขณะที่ถ้าดูปัจจัยในระดับรัฐ รัฐอะแลสกา มีการเกิดฟ้าผ่าเพิ่มขึ้น 17% ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ส่วนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย มีฟ้าผ่า 14,000 ครั้ง ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2020 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นต้นตอให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในพื้นที่
- ที่มา: เอพีและรอยเตอร์