นักวิทยาศาสตร์ในเบลเยี่ยมกำลังพิสูจน์คำกล่าวอ้างของเกษตรกรที่ว่า รูปแบบดนตรีที่แตกต่างกันอาจส่งผลต่อพฤติกรรมหมูที่เขาเลี้ยง
พีท พาแอสแมนส์ (Piet Paesmans) เจ้าของฟาร์มที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยี่ยมและชายแดนเนเธอร์แลนด์ ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อลูกชายของเขาเริ่มร้องเพลงในโรงนาในระหว่างขั้นตอนการผสมเทียมหมูอันน่าเบื่อหน่าย และดูเหมือนว่าแม่หมูจะตื่นเต้นและเริ่มกระดิกหางของพวกมัน
พาแอสแมนส์บอกกับรอยเตอร์ว่า เขาคิดว่าเรื่องนี้มีประโยชน์เกินกว่าที่จะมองข้ามไป และควรจะมีการทดลองกับหมูตัวอื่น ๆ ด้วย
นับตั้งแต่นั้นมา พาแอสแมนส์ได้สร้างเพลย์ลิสต์ให้พ้องกับช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน โดยจะเล่นเพลงที่มีจังหวะเร็ว ๆ เมื่อเขาต้องการให้หมูกระฉับกระเฉง และเล่นเพลงกล่อมเด็กในตอนค่ำ
พาแอสแมนส์กล่าวต่อไปอีกว่า เพลง Jolly Dance เป็นเพลงที่บรรดาหมูในฟาร์มของเขาชอบมากที่สุด พวกมันจะเริ่มกระดิกหางเวลาที่ได้ยินเสียงเพลง และเมื่อถึงท่อนที่เร็ว ๆ พวกมันก็จะเริ่มเต้นไปรอบๆ อย่างสนุกสนาน แต่พวกมันจะไม่ชอบเพลงร็อคนั้นเพราะมีจังหวะที่รุนแรงเกินไป
เกษตรกรผู้นี้ได้ให้ข้อมูลแก่นักวิจัยที่ได้รับเงิน 75,000 ยูโร หรือราว 2.8 ล้านบาท จากกองทุนของสหภาพยุโรปและภูมิภาคแฟลนเดอร์สของเบลเยียมเพื่อทำการศึกษาในเรื่องนี้
แซนเดอร์ พาลแมนส์ (Sander Palmans) ผู้ประสานงานโครงการวิจัยนี้ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษามากนักเกี่ยวกับปฏิกิริยาของหมูที่มีต่อดนตรี แต่ประสบการณ์ของพาแอสแมนส์ก็สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับผลกระทบของเสียงโดยทั่วไปที่มีต่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ
เขากล่าวอีกว่า เสียงบางอย่างมีผลกระทบต่อสัตว์อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เสียงดนตรีจะมีผลกระทบในแบบเดียวกัน และว่าเสียงดนตรีอาจสามารถช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับความเครียดได้อีกด้วย
พาแอสแมนส์กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจส่งผลกระทบอย่างแท้จริงต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ เนื่องจากคุณภาพของเนื้อสัตว์นั้นขึ้นอยู่กับความเครียดของสัตว์เหล่านั้นด้วย
เขากล่าวส่งท้ายว่า "นักกีฬาระดับแนวหน้าจำเป็นต้องมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจด้วย เช่นเดียวกับหมู เมื่อพวกมันถูกนำไปฆ่า ก็จะเห็นได้ว่าพวกมันมีความเครียดมากเกินไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากสำหรับคุณภาพของเนื้อหมู”
สำหรับผลของการศึกษาวิจัยดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการเผยแพร่ภายในสิ้นปีนี้
- ที่มา: รอยเตอร์