ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทวีปแอฟริกาเผชิญความเหลื่อมล้ำในมาตรการรับมือ "ฝีดาษลิง"


HEALTH-MONKEYPOX/
HEALTH-MONKEYPOX/

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะที่กำลังเกิดความตื่นตัวเรื่องวัคซีนต้าน "ฝีดาษลิง" ในยุโรปและที่อื่น ๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมลำ้ที่เกิดขึ้นต่อทวีปแอฟริกา

พวกเขาระบุว่า ทรัพยากรทางการเเพทย์และเวชภัณฑ์สำหรับการชะลอการระบาดของฝีดาษลิงมีมานานเเล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนในทวีปแอฟริกา ซึ่งเผชิญกับโรคร้ายนี้มาแล้วหลายสิบปี

ขณะนี้ เกิดการระบาดของฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาครั้งใหญ่ที่สุด โดยประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี สวิตเซอร์เเลนด์ อเมริกาและอิสราเอล พบการติดเชื้อรวมกันกว่า 250 เคส แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปเสนอการฉีดวัคซีนป้องกันให้เเก่ประชาชน และกำลังพิจารณาถึงการใช้วัคซีนสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศของตน

ในขณะเดียวกัน ในทวีปแอฟริกาพบการระบาดที่มากกว่าประเทศนอกทวีปถึง 5 เท่าในปีนี้ โดยฝีดาษลิงได้กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นในแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโกและไนจีเรีย และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 63 คนและติดเชื้อไปแล้วกว่า 1,400 ราย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังไม่พบการเชื่อมโยงโดยตรงที่นำไปสู่การระบาดใหญ่นอกทวีปแอฟริกา

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ฝีดาษลิงอยู่ในกลุ่มเชื้อไวรัสเดียวกับไข้ทรพิษ (smallpox) และวัคซีนไข้ทรพิษสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล 85% ต่อฝีดาษลิง

Africa Monkeypox
Africa Monkeypox

ตั้งเเต่เกิดการระบาดล่าสุด อังกฤษฉีดวัคซีนให้เเก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 1,000 โดสเเละซื้อเพิ่มอีก 20,000 โดส ส่วนสหรัฐฯ นำวัคซีน 700 โดสไปให้กับมลรัฐที่พบผู้ติดเชื้อ

แต่สำหรับทวีปแอฟริกา สถานการณ์แตกต่างไปจากโลกตะวันตกอย่างมาก

แพทย์หญิงเอเดโซลา ยินก้า-โอกุนเลเย หัวหน้าคณะทำงานด้านฝีดาษลิงในไนจีเรียกล่าวว่า ที่ประเทศของเธอยังคงไม่มีวัคซีนและยาต้านไวรัสสำหรับฝีดาษลิง โดยผู้ป่วยจะถูกแยกตัวและได้รับการรักษาตามอาการ

รักษาการผู้อำนวยการหน่วยงาน Africa CDC อะเหม็ด โอกเวลล์ กล่าวว่า ทวีปเเอฟริกามีวัคซีนสำหรับไข้ทรพิษในปริมาณน้อย ที่จะนำไปให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อเกิดการระบาดของฝีดาษลิง

เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัดและจากการที่แอฟริกามีเรื่องเร่งด่วนด้านสาธารณสุขอื่นๆ นายเเพทย์จิมมี่ วิทเวิร์ธ อาจารย์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า การฉีดวัคซีนต้านฝีดาษลิงจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในแอฟริกา

เขากล่าวว่าเกิด "ความล้มเหลวทางจริยธรรมขึ้นเมื่อการแทรกแซงเพื่อป้องกันมิได้ถูกเตรียมไว้ใช้กับคนหลายล้านคนในแอฟริกาที่ต้องการ"

องค์การอนามัยโลกมีวัคซีนไข้ทรพิษ 31 ล้านโดส แต่ส่วนมากถูกเก็บไว้ใช้ในประเทศผู้บริจาค เเละถูกเตรียมไว้หากเกิดการระบาดอีกครั้งของไข้ทรพิษ ซึ่งได้มีการประกาศว่า เป็นโรคที่ถูกขจัดไปเมื่อ 42 ปีก่อนแล้ว

วัคซีนไข้ทรพิษจากองค์การอนามัยโลกไม่เคยถูกนำไปแจกจ่ายให้เพื่อต้านการระบาดของฝีดาษลิงในภูมิภาคเเอฟริกากลางและเเอฟริกาตะวันตกเลย

นายเเพทย์ไมค์ ไรอัน ผู้กับกับดูเเลงานฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีการพิจารณาให้ประเทศร่ำรวยสามารถใช้วัคซีนไข้ทรพิษเพื่อชะลอการระบาดของฝีดาษลิง

เขากล่าวด้วยว่า งานด้านหนึ่งขององค์การอนามัยโลกก็คือ การใช้มาตรการเดียวกันสำหรับประเทศยากจนเพื่อให้มีวัคซีนต้านไข้หลืองและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยความช่วยเหลือลักษณะดังกล่าวสงวนไว้เฉพาะสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอในการได้มาซึ่งวัคซีน

ส่วนนายเเพทย์ฮิว แอดเลอร์ นักวิจัยแห่ง Liverpool School of Tropical Medicine กล่าวว่าโรคหลายชนิดจะได้รับความสนใจซึ่งนำไปสู่เงินสนับสนุนก็ต่อเมื่อโรคส่งผลกระทบต่อคนในประเทศร่ำรวย

ตัวอย่างเช่น ได้เกิดไข้อีโบล่าที่ระบาดรุนเเรงในแอฟริกาตะวันตกไปแล้วในช่วงปี 2014 ถึง 2016 แต่มาตรการรับมือเร่งด่วนและการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีวัคซีนต้านอีโบล่าเกิดขึ้นเมื่อชาวอเมริกันหลายคน อยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อกว่า 28,000 คนในแอฟริกา

เจย์ ชูดิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ที่อยู่ในรัฐเอ็นกูนูประเทศไนจีเรีย ที่มีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงตั้งเเต่ 5 ปีก่อนหวังว่า ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นเรื่องฝีดาษลิงในเวลานี้จะนำไปสู่การเเก้ปัญหาในที่สุด

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG