ในระหว่างปี 1892 และ 1954 ผู้อพยพจากยุโรปกว่า 12 ล้านคนเดินทางเข้าสหรัฐฯผ่านด่านเข้าเมืองของเกาะเอลลิสที่นครนิวยอร์ก เพื่อหวังสร้างชีวิตที่ดีขึ้นและร่วมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันที่เป็นหม้อหลอมรวมความหลากหลายไปพร้อมๆกัน
ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไป โดยผู้อพยพจากเอเชียและละตินอเมริกันกลับมักถูกมองในแง่อคติบ่อยกว่าว่าอาจจะมาสร้างภาระต่างๆให้แก่ประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ ลีอา เบาสตัน และ แรน อาบรัมมิสกี จึงใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดที่เปรียบเทียบผู้อพยพในยุคปัจจุบันกับในอดีตเพื่อชี้แจ้งข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจในสังคมให้มากขึ้น
งานวิจัยเรื่องปัจจัยส่งประสบความสำเร็จ
สิ่งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองประหลาดใจเมื่อทำการศึกษา คือความสำเร็จในกลุ่มของลูกๆผู้อพยพ ซึ่งชี้ว่าในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเด็กๆเหล่านี้จะอพยพมาจากประเทศใด พวกเขามักจะผลักดันตนเองขึ้นไปให้เป็นกลุ่มชนชั้นกลางและฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น (upward mobility) มากกว่าลูกๆของพ่อแม่ที่เกิดและโตในสหรัฐฯ
ลีอา เบาสตัน แห่งมหาวิทยาลัย Princeton อธิบายว่า สาเหตุหลักอยู่ที่ถิ่นฐานที่ลูกๆของผู้อพยพเหล่านี้อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่มักพำนักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆที่ให้โอกาสเด็กๆเจริญเติบโตทางหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จ แตกต่างจากลูกๆของครอบครัวชาวอเมริกันที่พ่อแม่เกิดและโตในสหรัฐฯ เพราะคนกลุ่มนี้มักจะไม่ย้ายถิ่นฐานและเลือกเลี้ยงลูกอยู่ในพื้นที่ที่ตนเองโตมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน
ข้อมูลทางสถิติชี้ว่า ลูกของผู้อพยพจากสาธารณรัฐโดมินิกัน เม็กซิโก หรือ กัวเตมาลาที่เติบโตในครอบครัวที่ฐานะยากจน ประสบความสำเร็จได้เทียบเท่ากับลูกๆของผู้อพยพจากนอร์เวย์ เยอรมัน หรืออิตาลีในอดีต
อีกประเด็นหนึ่งที่ให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ประสบความสำเร็จมาจากความรักและความเอาใจใส่ทางการศึกษาที่พ่อแม่ผู้อพยพมีให้แก่ลูกๆ พ่อแม่เหล่านี้มักมีพื้นเพในการสำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงในประเทศบ้านเกิดอยู่แล้ว แต่บางส่วนอาจไม่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญนี้ในสหรัฐฯได้นั่นเอง
ความเชื่อผิดๆที่มักถูกโยงเข้ากับกลุ่มผู้อพยพ
ทั้งนี้ คนบางส่วนยังคงต่อต้านผู้ที่ต้องการย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เพราะคิดว่าผู้อพยพจะเข้ามาสร้างปัญหาทางด้านการเงินในแก่ประเทศ มาก่ออาชญากรรม หรือกระทั่งแย่งงานคนอเมริกันทำ ความกลัวเหล่านี้ทำให้เกิดนโยบาย เช่น การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
แต่นักเศรษฐศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ทั้งคู่ได้ศึกษาดูผลสถิติอย่างละเอียดได้พบว่า แม้พ่อแม่ของเด็กผู้อพยพจะมีรายได้ต่ำ แต่รุ่นลูกมักทำงานที่ดีและมีรายได้ที่สูงกว่า และผู้อพยพในปัจจุบันสามารถรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของชาติตนในขณะที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันได้เร็วเหมือนกับผู้อพยพในสมัยก่อน เพราะเหตุผลหลายประการ เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ การอาศัยนอกพื้นที่ที่มีแต่ผู้อพยพ การแต่งงานกับชาวอเมริกัน การให้ชื่อที่ฟังดูเป็นภาษาอังกฤษแก่ลูก
นอกจากนี้ ผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯในปัจจุบันมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกจับและกุมขังเพราะก่ออาชญากรรม เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันที่เกิดและโตในสหรัฐ
และอาจารย์เบาสตัน ยังกล่าวเสริมด้วย ผู้อพยพไม่ได้แย่งงานคนอเมริกัน พวกเขาเข้ามารับอาชีพที่มีความต้องการแรงงานสูงแต่ชาวอเมริกันไม่อยากทำต่างหาก เช่น งานในภาคการเกษตร งานจัดตัดแต่งสวน หรือกระทั่งดูแลผู้ป่วยวัยชรา
นักวิชาการผู้นี้กล่าวต่อด้วยว่า “ทุกวันนี้ ผู้อพยพมีชุดทักษะที่คนทั่วไปในอเมริกายังไม่มีเพราะหลายคนมีปริญญาเอก เป็นนักวิทยาสาตร์ระดับด็อกเตอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งทักษะเหล่านี้มักสร้างโอกาสให้เกิดตำแหน่งงานมากกว่าการแย่งชิงงานของคนอื่นๆ”
ในปี 2020 ผลสำรวจของสถาบัน Pew Research ชี้ว่า ชาวอเมริกันที่สนับสนุนการเมืองทั้งฝั่งซ้ายและขวาต่างเห็นว่าผู้อพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมายและอย่างถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่มักทำงานในอาชีพที่ชาวอเมริกันไม่ต้องการจะทำ
อย่างไรก็ตาม จอร์จ บอราส แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานในกลุ่มผู้อพยพ แย้งว่า การเปิดประตูต้อนรับผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯอาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันที่ทำงานในระดับล่าง เขาอธิบายว่า คนเหล่านี้ที่มีการศึกษาน้อยมักต้องแข่งกับผู้อพยพเรื่องตำแหน่งงาน
การร่างนโยบายในอนาคต
นักเศรษฐศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ ลีอา เบาสตัน และ แรน อาบรัมมิสกี ซึ่งเขียนหนังสือร่วมกันเกี่ยวกับการวิเคราะห์นโยบายผู้อพยพทิ้งท้ายว่า พวกเขาอยากให้ผู้ร่างกฎหมายเห็นข้อมูลย้อนหลังและสถิติที่ชัดเจนทั้งด้านความสำคัญ ผลกระทบ และประโยชน์ของผู้อพยพ เพื่อที่จะมีความเข้าใจในการตัดสินใจเวลาร่างนโยบายใหม่ๆในอนาคต
การวิเคราะห์โดยละเอียดพบว่า ไม่ว่าผู้อพยพ จะเข้าไปอยู่ในประเทศแบบใด พวกเขามักจะพัฒนาตนเองขึ้นมา ซึ่งชี้ให้คนเหล่านี้มีประสบการณ์การย้ายถิ่นฐานที่คล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นคนละประเทศหรือกาลเวลาที่เปลี่ยนไปจากผู้อพยพชาวยุโรปรุ่นเก่าจนมาถึงผู้อพยพชนชาติอื่นๆในปัจจุบัน ดังนั้น นโยบายในเรื่องนี้ในอนาคตควรคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย
- ที่มา: วีโอเอ