บริษัทการรถไฟ “โตคิว” ของญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้นในการขับเคลื่อนรถไฟ ซึ่งหมายความว่าเครือข่ายรถไฟขนาดใหญ่ของโตคิวทั้งในและรอบ ๆ กรุงโตเกียวไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
โตคิวมีพนักงานอยู่ 3,855 คน มีรางรถไฟยาวกว่า 100 กิโลเมตร ที่สามารถให้บริการผู้คนได้วันละ 2.2 ล้านคน ทั้งนี้การรถไฟของโตคิวถือเป็นการเชื่อมต่อโตเกียวกับเมืองใกล้เคียงอย่างโยโกฮาม่า
นอกจากนี้โตคิวยังเป็นผู้ให้บริการรถไฟรายแรกในญี่ปุ่นที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงนี้เทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยต่อปีของชาวญี่ปุ่น 56,000 ครัวเรือน
นิโคลัส ลิตเติ้ล (Nicholas Little) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาทางรถไฟที่มหาวิทยาลัย Michigan State ยกย่องโตคิวที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ก็เน้นย้ำว่า การพัฒนาวิธีการสร้างพลังงานหมุนเวียนก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน และว่า การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะเป็นการต่อสู้ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาก็คือ การที่โตคิวเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนนี้ เป็นเพียงการรณรงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่? หรือว่าโตคิวกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อม?
เรียว ทากางิ (Ryo Takagi) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Kogakuin ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางไฟฟ้ากล่าวว่า คำตอบนั้นไม่ง่าย เนื่องจากผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นนั้นน่าจะมาจากการเปลี่ยนสายรถไฟที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลในชนบทไปใช้พลังงานไฮโดรเจน หรือการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่การเปลี่ยนแปลงของโตคิวนั้นก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
โยชิมาสะ คิตาโนะ (Yoshimasa Kitano) เจ้าหน้าที่ของโตคิว กล่าวว่า ทางบริษัทมีแผนดำเนินการส่งเสริมพลังงานสะอาดให้มากขึ้นด้วย
ขั้นตอนดังกล่าวมีความสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับหกของโลก ในการที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
สถาบันนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนของญี่ปุ่น กล่าวว่า ไฟฟ้าในญี่ปุ่นที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีอยู่ราว 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งยังตามหลังประเทศนิวซีแลนด์อยู่มาก โดย 84 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ในประเทศนี้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และนิวซีแลนด์หวังว่าจะสามารถทำให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2035
ทั้งนี้ แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ขับเคลื่อนรถไฟโตคิว ได้แก่ ไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ตามรายงานของ Tokyo Electric Power Co. ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคที่ให้บริการไฟฟ้าและจัดหาแหล่งพลังงาน
นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในปี 2011 ญี่ปุ่นได้ปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบทั้งหมดและมีการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าที่จะให้พลังงาน 36 ถึง 38 เปอร์เซ็นต์ของประเทศมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030
- ที่มา: เอพี