เป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้วที่กองทัพรัสเซียเดินหน้ารุกรานยูเครน แต่ชาวอเมริกันทั้งในระดับรัฐและประชาชนทั่วไปยังเดินหน้าให้การสนับสนุนชาวยูเครนในทุกด้านที่สามารถทำได้
เห็นได้จากแรงสนับสนุนที่เข้มแข็งจากนักการเมืองจากสองพรรคการผลักดันเงินช่วยเหลือ 33,000 ล้านดอลลาร์ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร้องขอให้สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือดังกล่าวเพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือทางการทหารและมนุษยธรรมมูลค่า 13,600 พันล้านดอลลาร์ที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อเดือนก่อน
ชาวอเมริกันยังสนับสนุนความมุ่งมั่นของปธน. ไบเดน ในการยอมรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้าสู่สหรัฐอเมริกา และสนับสนุนให้เดินหน้าเร่งกระบวนการเข้าประเทศตามกฎหมายคนเข้าเมืองด้วยเช่นกัน อ้างอิงจากการสำรวจล่าสุดที่จัดทำเมื่อ 1-19 เมษายน ของบริษัทวิจัย Gallup ที่พบว่า 78% ของชาวอเมริกันเห็นชอบการรับผู้อพยพยูเครนเข้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 100,000 คน นับเป็นระดับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอเมริกันที่สูงที่สุดเท่าที่บริษัทวิจัยแห่งนี้ทำการสำรวจในประเด็นรับผู้อพยพของอเมริกามาตั้งแต่ปี 1939
ลิเดีย ซาอาด ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยสังคมสหรัฐฯ แห่งบริษัทวิจัย Gallup บอกว่าการสนับสนุนยูเครนจากประชาสังคมอเมริกันในทุกกลุ่มแนวคิดทางการเมือง ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษา ทุกระดับรายได้ และทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากสถานการณ์ยูเครนไม่ใช่ประเด็นที่ชาวอเมริกันมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน และในสภาพสังคมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันเช่นนี้ เป็นที่สังเกตได้ชัดเจนว่ากลุ่มชาวอเมริกันผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตในทุกเรื่องเกี่ยวกับยูเครนเช่นกัน
อีกด้านหนึ่งในการสำรวจของรอยเตอร์และอิปซอส ที่จัดทำช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า 73% ของชาวอเมริกันในการสำรวจ สนับสนุนความพยายามของคณะทำงานปธน.ไบเดน ในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน ซึ่งเป็นระดับการสนับสนุนสูงสุด นับตั้งแต่เหตุรัสเซียบุกยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมทั้งยังเห็นด้วยกับการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ตามการสำรวจล่าสุดจากเอพีและสถาบันวิจัย NORC ที่พบว่า 54% ของชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันและกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใด ต้องการให้ปธน.ไบเดน มีมาตรการที่เข้มข้นกับรัฐบาลมอสโกมากกว่านี้
อะไรอยู่เบื้องหลังแรงหนุนของชาวอเมริกันต่อยูเครน?
เหตุผลบางอย่าง ที่สถานการณ์ยูเครนได้รับความเห็นอกเห็นใจในระดับสูงจากชาวอเมริกัน คือ การยกระดับอย่างรวดเร็วของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์เข้าไปรุกรานประเทศหนึ่งที่มีพรมแดนติดกับประเทศสมาชิกนาโต้ และการพลัดถิ่นของผู้คนนับล้านชีวิตจากภาวะสงครามในเวลาไม่กี่เดือน
แม้กระทั่งก่อนเกิดความขัดแย้งขึ้น ชาวอเมริกันเองก็มีมุมมองที่ดีต่อชาวยูเครนมากกว่าชาวรัสเซียอยู่แล้วโดยทั่วไป อ้างอิงจากโพลล์ของ Gallup เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก่อนรัสเซียบุกยูเครน
มิเชล เคลโซ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาและกิจการระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัย George Washington University ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงจดจำการเตรียมฝึกซ้อมในยุคสงครามเย็นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีนิวเคลียร์จากรัสเซียในอดีต และเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนเหมือนกับการดึงชาวอเมริกันกลับไปสัมผัสกับความกลัวต่อรัสเซีย และความสามารถของรัสเซียในการทำอันตรายต่อชาวอเมริกันได้
ไม่นานมานี้ ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต มองรัฐบาลมอสโกเป็นมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามที่พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ชัยชนะ
ไม่เพียงแค่แรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวอเมริกันเพียงอย่างเดียว แต่การล็อบบี้โดยชาวอเมริกันเชื้อสายยูเครนกว่า 1 ล้านคนในอเมริกา ได้ผลักดันไปสู่การสนับสนุนจากนักการเมืองทั้งสองพรรคในรัฐสภาสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมต่อรัฐบาลกรุงเคียฟอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ มุมมองของชาวอเมริกันต่อชาวยูเครนในฐานะที่ยูเครนเป็นประเทศในยุโรปและนับถือศาสนาคริสต์ก็อาจมีส่วนด้วยเช่นกัน ในมุมมองของเคลโซ
แรงหนุนท่วมท้นที่ต่างจากชาติอื่นๆ
ความแตกต่างของการสนับสนุนชาวยูเครนกับการสนับสนุนผู้คนชาติอื่นๆ สำหรับชาวอเมริกันนั้น อาจมีอิทธิพลมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรณีของยูเครนที่ถูกโจมตีโดยมหาอำนาจ กับกรณีของซีเรียและประเทศในอเมริกากลางที่ต้องลี้ภัยจากปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเผด็จการหรือรัฐบาลฉ้อฉลที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความยากจนข้นแค้นและความรุนแรงในประเทศได้ สถานการณ์อย่างหลังนี้เป็นเรื่องยากที่ชาวอเมริกันจะเข้าใจเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ของยูเครนที่มีประเด็นเรียบง่ายและมีประเทศคู่ตรงข้ามที่ชัดเจน
อาจารย์ด้านสังคมวิทยาและกิจการระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัย George Washington University ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ในกรณีของหลายประเทศการจัดการกับบุคคลเดียวที่เป็นต้นตอของปัญหาไม่ใช่ทางออกที่เรื่องราวความขัดแย้งจะจบลงได้
ดังนั้น ในบริบทของการรุกรานยูเครนของรัสเซียสำหรับชาวอเมริกันแล้ว หลักการของอำนาจอธิปไตยเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจและเข้ามาช่วยปกป้อง มากกว่าประเด็นความขัดแย้งที่ซับซ้อนกว่าในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ
นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของผู้นำหนุ่มและมีเสน่ห์ ที่ลุกขึ้นมานำประเทศของเขาในยามสงครามอย่างกล้าหาญ ทำให้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ในทัศนะของเคลโซ เห็นว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ในความเห็นของชาวอเมริกัน คือ ผู้ที่เป็นรองกว่าในสงครามรัสเซียยูเครน และชาวอเมริกันชื่นชอบและสนับสนุนผู้เป็นรองกว่าอยู่แล้ว
- ที่มา: วีโอเอ