ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์เสรีภาพในการแสดงออก เมื่อมหาเศรษฐีอันดับ 1 เข้าซื้อทวิตเตอร์


FILE - Tesla chief Elon Musk speaks at the TED2022: A New Era conference in Vancouver, Canada, April 14, 2022, in this handout image released by TED Conferences.
FILE - Tesla chief Elon Musk speaks at the TED2022: A New Era conference in Vancouver, Canada, April 14, 2022, in this handout image released by TED Conferences.

คนในวงการการเมืองและนักวิเคราะห์ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่อิลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทรถยนต์เทสลา สามารถสรุปดีลการเข้าซื้อ บริษัททวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้กว่า 400 ล้านคน

เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกอเมริกันจากพรรครีพับลิกัน สะท้อนเสียงกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มัสก์เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ โดยคนกลุ่มนี้เชื่อว่า ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ และบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่งเสริมความคิดเสรีนิยมและปิดกั้นความคิดอนุรักษ์นิยม

ส.ว.ผู้นี้กล่าวในทวีตว่า “น่าทึ่งมากที่เห็นความตื่นตระหนกของผู้ที่มีความคิดฝ่ายซ้าย เมื่อนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทวิตเตอร์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก”

อย่างไรก็ตาม มีผู้กังวลเช่นกันว่า หากมัสก์เข้ากุมบังเหียนทวิตเตอร์ นโยบายเรื่องการกลั่นกรองถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติและสร้างความเกลียดชังในสังคม อาจย่อหย่อนลง

สุเมย์ยา วาฮีด ตัวแทนกลุ่มสิทธิของผู้นับถือศาสนาอิสลาม “Muslim Advocates” กล่าวว่า ชาวมุสลิมต้องเจอกับการถูกคุกคามบนทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง และการลดการสอดส่องถ้อยคำที่ส่งเสริมความเกลียดชังจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ทวิตเตอร์มีผู้ใช้ประจำกว่า 400 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก 3,000 ล้านคน แต่คนจำนวนมากที่เป็น “อินฟลูเอ็นเซอร์” เช่น นักการเมือง นักข่าวและ คนดังในวงการต่างๆ ใช้ทวิตเตอร์สื่อสารกับผู้ติดตาม

ดังนั้น จึงมีคนมองว่าทวิตเตอร์มีอิทธิพลต่อความคิดคนมากกว่าที่จะพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้ทั่วโลก

เจ้าของบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมาก ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นคนส่วนน้อยในสังคม ที่อาจถูกผลักไสหรือกดขี่มากขึ้นไปอีกถ้าออกมาแสดงความคิดเห็น

ปัจจุบันจึงมีผู้เห็นประโยชน์จากการให้ผู้ใช้สงวนการเปิดเผยตัวตนได้ อย่างไรก็ตาม อิลอน มัสก์ ผู้ที่ติดอันดับหนึ่งมหาเศรษฐีโลกโดยสำนักข่าว Bloomberg กล่าวไม่นานนี้ว่า เขาต้องการให้มีการยืนยันตัวตนผู้ใช้จริง

ไมเคิล โพสเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ Center for Business and Human Rights แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า ถ้อยแถลงของมัสก์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจยังขาดความสมบูรณ์ และหวังว่า มหาเศรษฐีผู้นี้จะเข้าใจว่า ควรมีคนเข้าไปสอดส่องการสร้างความเกลียดชัง ข้อมูลบิดเบือน สแปมหลอกลวง และเนื้อหาอนาจาร

TEC--Twitter-Ads Transparency
TEC--Twitter-Ads Transparency

อิเมอร์สัน บรูคิน นักวิจัยด้านการสื่อสารยุคดิจิทัล ที่ Digital Forensic Research Lab แห่ง Atlantic Council กล่าวว่า อิลอน มัสก์ เป็นผู้มีความคิดแบบสุดขั้วในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่เขาไม่คุ้นกับประเด็นเรื่องที่คนในหลายส่วนของโลกมีความเสี่ยงจากการแสดงความเห็นทางการเมือง “และสองสิ่งนี้อาจปะทะกัน.... และคิดว่าอนาคตของทวิตเตอร์จะไม่เหมือนเดิม และจะดูไม่น่าเข้าหาในสายตาคนจำนวนมาก”

เอวาน เกรเออร์ ผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิ์ในยุคดิจิทัล Fight for the Future ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า อาจเกิดการผูกขาด “สิ่งที่คนเห็น ได้ยิน และทำได้บนโลกออนไลน์”

“ถ้าเราต้องการเห็นอนาคตของเสรีภาพในการแสดงออก มันคงไม่ใช่อนาคตที่มีคนที่รวยที่สุดในโลก ซึ่งสามารถใช้เงินซื้อแพลตฟอร์ม ที่คนเป็นล้านอาศัย (เป็นช่องทางสื่อสาร) และเขายังสามารถเปลี่ยนกฎต่างๆตามที่ชอบใจได้” เอวาน เกรเออร์ กล่าวในการสัมภาษณ์กับวีโอเอ

เป็นที่คาดเดาว่า ภายใต้การนำของอิลอน มัสก์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจได้รับอนุญาตให้กลับมาใช้ทวิตเตอร์ได้หลังจากที่เขาถูกแบนจากแพลตฟอร์มนี้เมื่อปีที่แล้ว

แต่ทรัมป์ บอกกับสถานีโทรทัศน์ Fox News ว่าตนไม่มีความประสงค์จะกลับมาใช้ทวิตเตอร์อีก และจะใช้สื่อของตนที่มีชื่อว่า Truth Social เอง

ในวันจันทร์หลังจากที่เกิดเสียงสะท้อนต่างๆเกี่ยวกับอิลอน มัสก์จากข่าวซื้อทวิตเตอร์ของเขา มหาเศรษฐีผู้นี้เขียนในทวีตว่า “ผมหวังว่า แม้คนที่วิพากษ์วิจารณ์ผมที่ร้ายกาจที่สุดก็ยังคงใช้ทวิตเตอร์ได้ต่อไป เพราะนั่นคือความหมายของเสรีภาพในการแสดงออก”

XS
SM
MD
LG