เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศต่างๆ พยายามปรับมาตรการต่างๆเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญกำลังหารือถึงวิธีการที่ได้ผลที่สุดในป้องกันชาวอเมริกันจากเชื้อกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ที่ผ่านมาองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ อนุมัติการฉีดป้องกันโควิดเข็มที่สี่ ของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา สำหรับประชาชนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
ผู้อำนวยการใหญ่เอฟดีเอ ปีเตอร์ มาร์คส์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่เเล้วว่า มาตรการฉีดเข็มกระตุ้น ตามที่อนุมัติไปเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะในอนาคตอาจไม่สามารถฉีดเข็มบูสเตอร์ให้กับประชาชนบ่อยเท่ากับที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน
ผู้ชี่ยวชาญดูจะเห็นตรงกันว่าควรให้ความสำคัญกับความพยายามที่จะลดเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และเสียชีวิต
ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่เนื่องจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ผู้ที่ได้รับวัคซีนสองเข็มเกือบร้อยละ 80 สามารถลดความเสี่ยงต่อการป่วยจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต และหากได้รับเข็มกระตุ้นภูมิหนึ่งเข็มประสิทธิภาพจะเพิ่มเป็น 94% ในการป้องกันอาการที่รุนเเรง
อย่างไรก็ตาม มีคนอเมริกันเพียงครึ่งหนึ่งของที่มีสิทธิ์รับเข็มที่สาม ที่ไปฉีดบูสเตอร์ตามสิทธิ์ที่ได้รับ และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คงไม่ใช่เเนวทางที่ดีที่สุดที่จะให้คนอเมริกันรับเข็มกระตุ้นภูมิไปเรื่อยๆทุกๆ 2-3 เดือน
โดยเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ หรือซีดีซี กล่าวว่า ประสิทธิภาพการป้องกันที่ร้อยละ 80 อาจจะกลายมาเป็นมาตรฐานของวัคซีน
อเเมนดา โคห์น ผู้ดำรงตำแหน่ง chief medical officer ที่ซีดีซีกล่าวว่า อาจจะต้องยอมรับกับความเป็นจริงที่ว่าระดับดังกล่าวคือมาตรฐานการป้องกันและพิจารณาถึงมาตรการอื่นๆควบคู่กันไป
สำหรับประเด็นที่ว่าควรรับมือการการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดอย่างไร บริษัทต่างๆพยายามปรับสูตรวัคซีน โดย เทรเวอร์ เบดฟอร์ด แห่งศูนย์วิจัย Fred Hutchison Cancer Research Center กล่าวว่า การกลายพันธุ์อย่างเช่นโอมิครอนอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ ปีครึ่ง
วัคซีนต้านโควิด-19 สามยี่ห้อที่ใช้ในสหรัฐฯ เป็นสูตรที่ถูกสร้างขึ้นจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่เจอตอนเเรกเมื่อปีปลาย 2019 ซึ่งกระบวนการปรับสูตรเป็นงานที่ยากโดยต้องผ่านการติดต่อประสานงานของเอฟดีเอ รวมถึงผู้ผลิตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระหว่างประเทศ
โอเฟอร์ ลีวี แห่งคณะเเพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าเเนวทางดังกล่าวน่าจะใช้เวลานาน ในการนำเสนอข้อมูลที่ต้องการเมื่อเกิดการกลายพันธุ์
ส่วนโรเบิร์ต จอห์นสัน ตัวเเทนขององค์การ U.S. Biomedical Advanced Research and Development Authority กล่าวว่า สมมติว่าบริษัทยาต้องการผลิตวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสที่ได้รับการปรับสูตร เพื่อการใช้อย่างเเพร่หลายในเดือนกันยายน แต่หากว่าถึงเดือนพฤษภาคมยังไม่มีการทดลองกับมนุษย์ จะถือว่ายากมากที่จะผลิตออกมาให้ทันในปริมาณมากภายใต้เงื่อนไขด้านเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ทุกๆ สองปีองค์การอนามัยโลกจะเเนะนำให้มีการปรับสูตรวัคซีนต้านไข้หวัดใหญ่เพื่อรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆ และจากนั้น ในอเมริกา องค์การอาหารเเละยาจะนำข้อเเนะนำดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิเศษ และจะลงมติเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในสหรัฐฯ ในลำดับถัดไป
- ที่มา: เอพี