ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ย้อนดูโรคระบาดใหญ่ในอดีต ไขคำตอบจุดสิ้นสุดโควิด-19


สองปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการติดเชื้อ การรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตเริ่มดีขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวิกฤตการณ์นี้ดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่จะจบลงอย่างไรนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจจะต้องดูจากการเกิดโรคระบาดครั้งที่ผ่าน ๆ มาในอดีตประกอบด้วย

เอริกา ชาร์เตอร์ส (Erica Charters) แห่งมหาวิทยาลัย University of Oxford ซึ่งกำลังศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ กล่าวว่า จุดจบของการเกิดโรคระบาดใหญ่นั้นไม่ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเท่ากับจุดเริ่มต้น และว่ายังมีปัญหาที่เกิดซ้ำ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นบทเรียนสำหรับอนาคตอันใกล้นี้

สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ โรคระบาดคือกระบวนการที่ยาวนานและยืดเยื้อ โดยมีจุดจบในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงจุดสิ้นสุดทางการแพทย์ เมื่อโรคร้ายนี้เริ่มเบาบางลง นอกจากนี้ยังมีจุดสิ้นสุดทางการเมือง เมื่อมาตรการป้องกันของรัฐบาลยุติลง และจุดสิ้นสุดทางด้านสังคม เมื่อผู้คนเดินหน้าต่อไป

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นเพิ่มขึ้นและลดลงแตกต่างกันตามส่วนต่าง ๆ ของโลก แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าจุดจบของการระบาดนี้กำลังใกล้เข้ามาแล้วในสหรัฐฯ

ชาวอเมริกันราว 65% ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยราว 29% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วและได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงมาเกือบสองเดือนแล้ว โดยค่าเฉลี่ยรายวันของสหรัฐฯ ลดลงราว 40% นอกจากนี้การเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ลดลงเกือบ 30% การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยก็กำลังจะหมดไปด้วย แม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางก็หยุดสวมหน้ากากกันแล้ว และประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้คนจะต้องกลับไปทำงานในออฟฟิส และกลับไปใช่ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนที่จะเกิดโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ครั้งนี้เต็มไปด้วยเรื่องที่น่าประหลาดใจ ซึ่งกินเวลานานกว่าสองปีและทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคนในสหรัฐฯ และมากกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก ความรุนแรงของโรคนี้คือสิ่งที่น่าประหลาดใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลาย ๆ คนได้รับบทเรียนที่ผิด ๆ จากการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในปี 2009-2010 ซึ่งกลับกลายเป็นโรคที่ไม่ถึงตายอย่างที่เคยหวาดกลัวกันในตอนแรก

คริสเท็น ไฮท์แมน (Kristin Heitman) นักวิจัยจากรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า เราทุกคนต่างวิตกกังวล แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในปี 2009 ดังนั้นทุกคนจึงคาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นอีกเมื่อตอนที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าบทเรียนจากการเกิดโรคระบาดในอดีตอาจช่วยชี้บอกถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นี้ว่าจะเป็นอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่

ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุด นักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปีค.ศ. 1918-1919 คร่าชีวิตผู้คนไป 50 ล้านคนทั่วโลก รวมถึง 675,000 คนในสหรัฐฯ การระบาดของไข้หวัดใหญ่อีกครั้งในปี 1957-1958 คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปประมาณ 116,000 คน และอีกครั้งในปี 1968 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอีก 100,000 คน

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในปี 2009 ทำให้เกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าไม่เป็นอันตรายโดยเฉพาะต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และโรคแทรกซ้อนมากที่สุด ในท้ายที่สุด มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ น้อยกว่า 13,000 รายจากการระบาดใหญ่ครั้งนั้น

องค์การอนามัยโลกประกาศในเดือนสิงหาคม 2010 ว่า ไข้หวัดใหญ่ได้เข้าสู่ช่วงหลังการระบาดของโรค โดยจำนวนผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดจะเข้าสู่รูปแบบการเจ็บป่วยตามฤดูกาล

ในแต่ละกรณี โรคระบาดจะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อเวลาผ่านไป และประชากรทั่วไปก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน โรคระบาดเหล่านั้นจะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีต่อ ๆ มา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารูปแบบดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโคโรนาไวรัสด้วยเช่นกัน

เอชไอวี

ในปี 1981 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ รายงานว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคปอดบวมจำนวนหนึ่งในกลุ่มชายรักร่วมเพศที่เคยมีสุขภาพดีในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก จากนั้นจำนวนผู้ป่วยเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ และเจ้าหน้าที่ได้เรียกโรคนี้ว่าโรคเอดส์ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยนักวิจัยระบุในภายหลังว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้น ๆ อ่อนแอลงโดยการทำลายเซลล์ที่ต่อสู้กับโรคและการติดเชื้อ

เป็นเวลาหลายปีที่โรคเอดส์ถือเป็นเสมือนโทษประหารที่น่าสะพรึงกลัว และในปี 1994 โรคเอดส์ก็กลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนอเมริกันอายุ 25 ถึง 44 ปี

แต่การรักษาที่เริ่มมีประสิทธิผลมากขึ้นในปี 1990 ทำให้โรคนี้กลายเป็นเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ในผู้ป่วยชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ทำให้ความสนใจในโรคนี้เปลี่ยนไปที่แอฟริกาและส่วนอื่น ๆ ของโลกซึ่งยังไม่สามารถควบคุมโรคนี้ได้และยังถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินต่อเนื่อง

ชาร์เตอร์สกล่าวว่า การระบาดใหญ่ครั้งนั้นไม่ได้จบลงด้วยจำนวนการติดเชื้อที่ลดลงอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก แต่จบลงด้วยการที่กลายเป็นการแพร่ระบาดในระดับภูมิภาค

ซิกา

ในปี 2015 บราซิลประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมียุงเป็นพาหะ ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยในผู้ใหญ่และเด็กส่วนใหญ่ แต่กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อพบว่าการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ทำให้ทารกเกิดมาพร้อมกับศีรษะที่เล็กผิดปกติ

ในปี 2017 จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมากและแทบจะหายไปหลังจากนั้นไม่นาน อย่างน้อยในสหรัฐฯ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคระบาดนี้หมดไปเนื่องจากผู้คนพัฒนาภูมิคุ้มกัน เป็นไปได้ว่าซิกาจะอยู่นิ่งเฉยเป็นเวลาหลายปี แต่การระบาดอาจเกิดขึ้นอีกครั้งหากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์หรือหากมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เติบโตขึ้นโดยที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

โควิด-19

องค์การอนามัยโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเจนีวา ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ในวันที่ 11 มีนาคม 2020 และจะตัดใจสินว่าเมื่อใดที่ประเทศต่าง ๆ มีจำนวนผู้ป่วย หรืออย่างน้อยที่สุด การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตลดลงมากพอที่จะบอกได้ว่าภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระหว่างประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว

ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ กำลังลดลง โดยอัตราผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลง 5% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ในบางพื้นที่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ และฮ่องกง

ดร. คาริสซา เอเตียน (Carissa Etienne) ผู้อำนวยการองค์การ Pan American Health Organization ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ผู้คนในหลาย ๆ ประเทศยังคงต้องการวัคซีนและยารักษาโรคอยู่ โดยประเทศในแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน มีผู้คนมากกว่า 248 ล้านคนยังที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก เอเตียนกล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเจ็บป่วย การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.ชิโร อูการ์เต (Ciro Ugarte) อำนวยการด้านภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพของ PAHO กล่าวว่า เรายังไม่หลุดพ้นจากการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ และยังต้องรับมือกับโรคนี้ด้วยความระมัดระวัง

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG