ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้ตัวเลขคนจนในอาเซียนพุ่ง


Women grills fish for sale at a slum area near railway tracks in Phnom Penh, Cambodia, Jan. 13, 2016.
Women grills fish for sale at a slum area near railway tracks in Phnom Penh, Cambodia, Jan. 13, 2016.

การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของโควิด-19 ทำให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 4.7 ล้านคนต้องตกลงสู่ภาวะยากจนรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทั้งยังทำให้ตำแหน่งงานหายไปจากตลาดแรงงานถึงประมาณ 9.3 ล้านตำแหน่ง ตามข้อมูลล่าสุดจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

รายงานของเอดีบีที่มีชื่อว่า Southeast Asia Rising from the Pandemic ยังระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หดหายไป 0.8% ในปีนี้ ขณะที่ ปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับประเมินขั้นพื้นฐานในกรณีที่ไม่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถึง 10% ด้วย

ซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากรายงานชิ้นนี้ ที่ระบุว่า ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย ลาว และประเทศไทย คือ ประเทศที่มีปัญหาช่องว่างผลผลิต หรือส่วนต่างของผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ออกมาจริง และระดับผลผลิตที่น่าจะผลิตออกมาได้ ซึ่งถ่างกว้างที่สุดในภูมิภาค

มาซาสุกุ อาซาคาวา ประธานเอดีบี กล่าวเสริมด้วยว่า การระบาดเป็นวงกว้างของโคโรนาไวรัสนำมาซึ่งภาวะว่างงานไปทั่ว ทั้งยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ รุนแรงขึ้น และทำให้ภาวะยากจนของประชาชนหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี ผู้ใช้แรงงานที่อายุยังไม่มาก และผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โควิดได้แพร่กระจายไปทั่วเป็นเวลากว่า 2 ปี เอดีบี พบว่า บางประเทศเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่น่าประทับใจกว่าบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดี หรือมีการส่งออกที่ไม่สะดุด หรือมีทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

และแม้เอดีบีจะยอมรับว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกันแล้ว องค์กรแห่งนี้เตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับแรงต้านอื่นๆ ที่อาจปรากฏขึ้นมาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวทั่วโลก ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน หรือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

  • ที่มา: ธนาคารเอดีบีและซีเอ็นเอ็น
XS
SM
MD
LG