ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กองกำลังสหรัฐฯ เคลื่อนพลชิดชายแดนยูเครน ท่ามกลางความกังวลถึงการปะทะโดยไม่ตั้งใจ


U.S. troops of the 82nd Airborne Division recently deployed to Poland because of the Russia-Ukraine tensions are setting up camp at a military airport in Mielec, southeastern Poland, Feb. 12, 2022.
U.S. troops of the 82nd Airborne Division recently deployed to Poland because of the Russia-Ukraine tensions are setting up camp at a military airport in Mielec, southeastern Poland, Feb. 12, 2022.

ทหารหลายร้อยคนจากกองบินที่ 82 ของสหรัฐฯ ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังพื้นที่ป่าในภูเขาด้านตะวันออกของประเทศโปแลนด์ ห่างจากชายแดนยูเครนเพียงไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นการขับเคลื่อนเข้าใกล้เมืองด้านตะวันตกของยูเครนที่เพิ่งตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศโดยรัสเซีย

การเคลื่อนพลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนกำลังพล 5,000 นายที่ถูกส่งไปโปแลนด์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากการส่งทหาร 4,000 คนไปยังโปแลนด์ก่อนหน้านี้

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) ได้กล่าวว่าการเคลื่อนกำลังพลครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังกรุงมอสโก ว่านาโต้จะปกป้อง “ทุกตารางนิ้ว” ของดินแดนของสมาชิกองค์การนาโต้

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าการมีกำลังพลในพื้นที่ป่าติดชายแดนยูเครนนั้น อาจจะทำให้เกิดการปะทะกันโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งช่องทางการสื่อสารระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากองกำลังของนาโต้ในยุโรปตะวันออกอาจจะตกเป็นเป้าของการโจมตีได้ หากสถานการณ์ตึงเครียดหรือรุนแรงมากขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์​ ปูติน มีคำสั่งให้กองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมในระดับสูงสุด เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่ผู้นำรัสเซียเรียกว่าเป็น “แถลงการณ์ที่ก้าวร้าว” ของนาโต้

คอนสแตนเซ สเตลเซนมุลเลอร์ (Constanze Stelzenmuller) แห่งสถาบัน Brookings Institution ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวกับสำนักข่าว Associated Press (AP) ว่า นาโต้พูดมาตลอดว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเหตุการณ์ในดินแดนของยูเครน แต่อาวุธจากประเทศโลกตะวันตกกลับถูกส่งไปยังยูเครนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านทางประเทศที่เป็นสมาชิกของนาโต้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ปูตินจะมองว่า หรือสรุปไปแล้วว่าการให้การสนับสนุนทางการทหารนั้น ว่าเป็นการกระโดดเข้ามาร่วมในการรบครั้งนี้ขององค์การนาโต้ หรือพูดได้ว่าบทสนทนาในตอนนี้ คือการมองว่าผู้นำรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีกองกำลังของนาโต้บนดินแดนของสมาชิกขององค์การนาโต้หรือไม่

An explosion is seen in an apartment building in Mariupol, Ukraine, Friday, March 11, 2022. (AP Photo/Evgeniy Maloletka)
An explosion is seen in an apartment building in Mariupol, Ukraine, Friday, March 11, 2022. (AP Photo/Evgeniy Maloletka)

การ "แบล็คเมล์" ด้วยอาวุธนิวเคลียร์​

ด้านฟาบรีซ พอทิเยร์ (Fabrice Pothier) อดีตหัวหน้าด้านการวางแผนนโยบายขององค์การนาโต้กล่าวว่า สมาชิกองค์การนาโต้จะต้องไม่ยอมให้ประธานาธิบดีปูตินยกคำอ้างเรื่องกองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ข่มขู่ หรือแบล็คเมล์นาโต้ เขามองว่าการปล่อยให้ปูตินขู่อ้างว่าจะใช้กองกำลังและอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะหมายความว่า เป็นการยอมให้ปูตินทำอะไรตามอำเภอใจ และจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งผู้นำรัสเซียได้อีกในอนาคต ซึ่งอาจรวมไปถึงการรุกรานพันธมิตรของนาโต้ด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาองค์การนาโต้ได้ย้ำมาตลอดว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่ง พอทิเยร์มองว่านาโต้ควรจะทำมากว่านี้ เขามองว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นเป็นอันตราย และเมื่อเขามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว ความเสี่ยงของการไม่ทำอะไร นอกจากประกาศปาว ๆ ว่านาโต้จะปกป้องพันธมิตรของตัวเอง และภารกิจของนาโต้จบลงที่ชายแดนของประเทศสมาชิกเท่านั้นนั้น เป็นส่ิงที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไป

จุดปะทะ

ชายแดนยูเครนที่ติดกับประเทศโปแลนด์ได้กลายเป็นประตูทางผ่านสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และยังเป็นชายแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยเป็นช่องทางส่งอาวุธของนาโต้ไปยังยูเครนและอาจจะเป็นจุดปะทะในอนาคตอีกด้วย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ยูเครนได้ทำหน้าที่เป็นประเทศกันชนระหว่างรัสเซียและองค์การนาโต้ แต่หากกองกำลังของรัสเซียยึดครองยูเครนได้ทั้งประเทศแล้ว ก็จะเหลือพื้นที่เพียงน้อยนิด ที่กั้นระหว่างกองกำลังของนาโต้และรัสเซีย และในพื้นที่กันชนเหล่านั้น บางแห่งก็หาได้มีรั้วกั้นมิดชิด มีเพียงป่าทึบและเทือกเขาเท่านั้น ที่แยกกองกำลังทั้งสองออกจากกัน

XS
SM
MD
LG