หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศห้ามสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรการลงโทษอย่างต่อเนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซีย แนวทางของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ถึงผลทางเศรษฐกิจที่จะตามมา
เนื่องจากเเต่ละประเทศพันธมิตรพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียในสัดส่วนที่เเตกต่างกัน ขณะนี้จึงเห็นว่ามีอังกฤษที่เปิดเผยว่ามีเเผนลดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน แต่ประเทศในยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูงยังคงไม่ใช้มาตรการเดียวกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้
สำหรับผลกระทบต่อรัสเซียเฉพาะเรื่องการขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ปริมาณน้ำมันและปิโตรเลียมที่อเมริกาซื้อจากรัสเซียคิดเป็นเพียง 8 เปอร์เซนต์ จากการซื้อสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศทั้งหมดของสหรัฐฯ เมื่อปีที่เเล้ว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัสเซียอาจนำน้ำมันไปขายให้เเก่ประเทศอื่นเเทน เช่นจีนหรืออินเดีย เเต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายรัสเซียต้องขายตำ่กว่าราคาตลาด เพราะมาตรการลงโทษหลายชุดที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ซื้อต้องการส่วนลดจากสินค้าปิโตรเลียมของรัสเซีย
ต่อคำถามที่ว่าอเมริกาจะซื้อน้ำมันจากแหล่งใดมาทดเเทน โฆษกทำเนียบขาวเจน ซากิกล่าวว่าตัวเเทนรัฐบาลอเมริกันหารือกับเวเนซูเอลาเรื่องความมั่นคงทางพลังงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
หากพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมและในระดับโลก ราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศพุ่งสูงขึ้น ตั้งเเต่เริ่มมีข่าวว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียก่อนหน้านี้ โดยรัสเซียนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับสองของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย
ราคาน้ำมันหน้าปั๊มเฉลี่ยในอเมริกากระโดดขึ้นสู่ราคาสูงสุดตั้งเเต่มีการเก็บข้อมูล คืออยู่ที่ 4.17 ดอลลาร์ต่อเเกลลอนในวันอังคาร และราคาน้ำมันในการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า พุ่งสู่ระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามรายงานของเอพี
และนักวิเคราะห์หลายคนจากในรายงานของเอพีเเละรอยเตอร์เห็นว่าราคาน้ำมันโลกอาจไต่สู่ระดับ 160 ดอลลาร์ และ 200 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล
นั่นหมายความว่าราคาหน้าปั๊มในอเมริกาอาจแพงกว่า 5 ดอลลาร์ต่อเเกลลอน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลไบเดนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ น้ำมันที่ราคาสู่ขึ้นจะยิ่งเร่งอัตราเงินเฟ้อ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปอาจจะพุ่งเกิน 7% ในอีกไม่กี่เดือนจากนี้
ธนาคารกลางยุโรปเตือนด้วยว่าสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนจะชะลอการเติบโตของกลุ่มยูโรโซน ประมาณ 0.3 ถึง 0.4 เปอร์เซนต์ในปีนี้ หรืออาจรุนเเรงถึง 1 เปอร์เซนต์ หากเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจอย่างไม่คาดฝัน
ส่วนที่สหรัฐฯ เฟดหรือระบบธนาคารกลางอเมริกัน ประเมินว่า การที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกาหายไป 0.1 เปอร์เซนต์ แต่หากเป็นการคาดการณ์โดยบริษัทเอกชน ผลกระทบจะน้อยกว่าที่เฟดประเมิน ตามรายงานของรอยเตอร์
และถ้าพิจารณาถึงผลจากสงครามครั้งนี้โดยรวมต่อเศรษฐกิจรัสเซีย นักวิเคราะห์ของธนาคาร JPMorgan ชี้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวมากถึง 12.5 เปอร์เซนต์ จากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุด