ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมาตรการลงโทษเมียนมาขณะนี้ยังไม่เพียงพอ 


FILE- Soldiers stand next to military vehicles as people gather to protest against the military coup, in Yangon, Myanmar, Feb. 15, 2021.
FILE- Soldiers stand next to military vehicles as people gather to protest against the military coup, in Yangon, Myanmar, Feb. 15, 2021.

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่เมียนมาในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาได้

ในสัปดาห์นี้ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าต่อเจ้าหน้าที่เมียนมา ในช่วงครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหารที่โค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ที่ถูกลงโทษมีทั้ง ธิดา อู่ อัยการสูงสุด, ตัน ตัน อู่ ประธานศาลสูง, ติน อู่ ประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต รวมทั้ง อู่ เทียน โซ อดีตนายพลและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร

เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาระบุว่า มาตรการลงโทษดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา

ในประเด็นนี้ เบ็น ฮาร์ดแมน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและนโยบายเมียนมาขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร EarthRights International ระบุว่า มาตรการลงโทษครั้งล่าสุดนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

ฮาร์ดแมนกล่าวกับวีโอเอว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ มักเป็นการจำกัดไม่ให้บุคคลหรือบริษัทที่ถูกลงโทษ เข้าถึงทรัพย์สินของพวกเขาในสหรัฐฯ และไม่สามารถทำธุรกรรมกับบุคคลหรือบริษัทของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงอาจแทบไม่มีผลอะไรต่อผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์หรือทรัพย์สินอยู่นอกเมียนมา

Protesters march through the streets during an anti-government demonstration in Mandalay, Myanmar, Dec. 7, 2021. (AP Photo, File)
Protesters march through the streets during an anti-government demonstration in Mandalay, Myanmar, Dec. 7, 2021. (AP Photo, File)

เขากล่าวต่อว่า มาตรการครั้งนี้เพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมา แต่ไม่น่าส่งผลใหญ่อะไรในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ หลังกองทัพเมียนมาโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นักการเมืองที่ถูกขับไล่ได้รวมตัวจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ เอ็นยูจี และยืนยันว่า พวกตนมีอำนาจบริหารเมียนมาโดยชอบธรรม

ตุง อ่อง ชเว ตัวแทนของเอ็นยูจีในออสเตรเลีย กล่าวกับวีโอเอว่า ทางองค์กรเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษล่าสุด แต่ต้องมีการดำเนินการมากกว่านี้เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างแท้จริง เช่น การใช้มาตรการลงโทษต่อกระทรวงน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกองทัพเมียนมา

เศรษฐกิจของเมียนมาทรุดตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จีดีพีของเมียนมาอาจลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ โซลูชันส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวลง 4.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจทรุดตัวลง เมียนมาต้องพึ่งพาการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทรัพยากรใต้ทะเลมากขึ้น โดยบริษัทผู้ลงทุนหลักมีทั้งบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างเชฟรอน และ Myanma Oil and Gas Enterprise หรือ MOGE ของรัฐบาลเมียนมา

สำนักข่าวเมียนมา นาว ระบุว่า โครงการก๊าซของเมียนมาอาจมีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของประเทศในปีนี้

เมื่อเดือนที่แล้ว เชฟรอนและโททัลเอเนอร์จีส์ บริษัทน้ำมันสัญชาติฝรั่งเศส ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลของเมียนมาจากเหตุผลเรื่องการทำรัฐประหาร ขณะนี้ นานาชาติจึงหันมาให้ความสนใจว่า จะมีการใช้มาตรการลงโทษต่อ MOGE มากขึ้นหรือไม่

Youth activists and Buddhist monks participate in an anti-military government protest rally while holding a banner that reads in Burmese, "Who dares to stay on the opposite side of the people's will," on Tuesday, Feb. 1, 2022, in Mandalay, Myanmar. The ne
Youth activists and Buddhist monks participate in an anti-military government protest rally while holding a banner that reads in Burmese, "Who dares to stay on the opposite side of the people's will," on Tuesday, Feb. 1, 2022, in Mandalay, Myanmar. The ne

ขิ่น โอมาร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน Progressive Voice เรียกร้องให้มีการขัดขวางเส้นทางรายได้ของรัฐบาลทหารเมียนมาให้มากกว่านี้

โอมาร์ระบุว่า รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน เป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารเมียนมาและเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำฝรั่งเศสใช้มาตรการลงโทษต่อ MOGE เพื่อไม่ให้รัฐบาลทหารได้รับรายได้จากก๊าซและน้ำมัน

แม้เมียนมาจะเผชิญกับการต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธมานานหลายสิบปี แต่ขณะนี้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องต่อสู้รายวันกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหลายพันคนหันมาจับอาวุธ โดยกองกำลังดังกล่าวเป็นหน่วยติดอาวุธของเอ็นยูจี

กองกำลังทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงต่อการประท้วงทั่วประเทศ โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า กองทัพสังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 1,510 คน
นางมิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ความขัดแย้งในเมียนมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นสงครามกลางเมืองได้แล้ว เธอยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการมากกว่านี้เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาฟื้นฟูประชาธิปไตย

เมื่อเดือนที่แล้ว นายปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาเข้าข่ายเป็นสงครามกลางเมือง โดยเขายังเป็นทูตพิเศษด้านเมียนมาของอาเซียนอีกด้วย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเซียนออกฉันทามติห้าข้อเพื่อบรรเทาสถานการณ์ในเมียนมา อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามฉันทามติมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยขณะที่กองทัพเมียนมายังคงกดขี่ผู้เห็นต่างต่อไป ในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ทางรัฐบาล “ยึดมั่น” ต่อสันติภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาวเมียนมาตามหลักฉันทามติห้าข้อดังกล่าว

นางโนเอลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ ยังหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะตกลงหยุดยิงได้ โดยเธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชาเนล นิวส์ เอเชีย ว่า ฝ่ายตรงข้ามของกองทัพต้องเจรจาข้อตกลงแบ่งอำนาจกับกองทัพเพื่อฟื้นฟูวิกฤตด้านการเมืองและสิทธิมนุษชนในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม องค์กรประชาสังคมจำนวน 247 องค์กรในเมียนมาปฏิเสธความเป็นไปได้ในการจับมือกับกองทัพ โดยองค์กรกลุ่มนี้ระบุในแลถงการณ์ร่วมว่า นางเฮย์เซอร์ต้องเข้าใจถึงปัญหารากลึกของวิกฤตในปัจจุบัน และ “ฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง”

เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1948 และถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นส่วนใหญ่นับแต่นั้นมา

กองทัพเมียนมาอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 เพื่อทำรัฐประหาร หลังจากนั้นนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำพลเรือน และอดีตประธานาธิบดีวิน มินต์ ได้ถูกควบคุมตัวและตัดสินจำคุกจากหลายคดี

  • รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ ทอมมี วอล์เกเกอร์ (Tommy Walker)
XS
SM
MD
LG