ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลไบเดนมอบสถานะปกป้องชั่วคราวให้ชาวเมียนมาในสหรัฐฯ 


FILE - Myanmar soldiers walk along a street during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, Feb. 28, 2021.
FILE - Myanmar soldiers walk along a street during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, Feb. 28, 2021.

รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้มีสัญชาติเมียนมาได้รับสถานะการปกป้องชั่วคราว ทำให้ชาวเมียนมาในสหรัฐฯ ได้รับการคุ้มครองจากการถูกเนรเทศและสามารถรับใบอนุญาตทำงานได้ หลังการรัฐประหารในเมียนมาจุดชนวนให้เกิดการจลาจลในประเทศมาเกือบสี่เดือนแล้ว

ผู้ที่มีเกณฑ์ได้รับสถานะดังกล่าวสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ระบุว่า ชาวเมียนมาราว 1,600 คนที่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม สามารถขอรับสถานะการปกป้องชั่วคราวนี้ได้

อเลฮานโดร มายอร์กาส รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า ชาวเมียนมาได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตทางมนุษยธรรมที่เสื่อมถอยลงจากการทำรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงของกองกำลังความมั่นคง โดยทางกระทรวงตัดสินใจมอบสถานะดังกล่าวหลังการพิจารณาต่อ “สถานการณ์เลวร้าย” นี้อย่างถี่ถ้วน

องค์การสหประชาชาติประณามสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา

Anti-coup protesters flash the three-finger salute during a demonstration against the military takeover, in Yangon, Myanmar, Monday, May 24, 2021. (AP Photo)
Anti-coup protesters flash the three-finger salute during a demonstration against the military takeover, in Yangon, Myanmar, Monday, May 24, 2021. (AP Photo)

กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่กองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น มีรายงานว่า กองกำลังความมั่นคงสังหารผู้ประท้วงจำนวนมากนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร

ทั้งนี้ ผู้ได้รับสถานะการปกป้องชั่วคราวในสหรัฐฯ จะถือสถานะนี้ได้ 18 เดือน โดยทางกระทรวงฯ ระบุว่า ผู้ขอรับสถานะจะต้องอาศัยในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมปีนี้ และจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยและการตรวจสอบประวัติ

กระทรวงฯ ยังระบุด้วยว่า ทางการสหรัฐฯ ยังคงควบคุมชายแดนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และพลเมืองในเมียนมาไม่ควรพยายามเดินทางลักลอบเข้าเมือง

คริช โอมารา วิกนาราจาห์ ประธานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Lutheran Immigration and Refugee Service ระบุว่า องค์กรของเธอช่วยให้ชาวเมียนมาราว 7,000 คนเข้ามาตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

วิกนาราจาห์ระบุในแถลงการณ์ ชื่นชมรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การคุ้มครองด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาที่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดอย่างปลอดภัยได้ เนื่องจากกองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น มีการใช้ความรุนแรง และมีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์และมุสลิม

ข้อมูลจากองค์กรวิจัยข้อมูลคดีคนเข้าเมือง Transactional Records Access Clearinghouse แห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวซ์ (Syracuse) ระบุว่า ที่ผ่านมา ศาลคดีผู้อพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ ตัดสินให้ดำเนินการส่งตัวชาวเมียนมากลับประเทศ 602 คนโดยเมื่อปีงบประมาณค.ศ. 2019 มีชาวเมียนมาถูกส่งตัวกลับประเทศไปแล้ว 28 คนด้วยกัน

XS
SM
MD
LG