เจ้าชายฟิลิป พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุกแห่งเอดินบะระห์ สิ้นพระชนม์แล้วเมื่อวันศุกร์ด้วยพระชันษา 99 ปี หลังจากทรงเป็นคู่ชีวิตและทรงสนับสนุนองค์พระประมุขแห่งอังกฤษมากว่าเจ็ดทศวรรษ ถือเป็นคู่สมรสขององค์พระประมุขที่ทรงดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นที่รู้จักในหลากหลายแง่มุม ทั้งพระราชกระแสที่บางครั้งเป็นไปในแนวเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศ ไปจนถึงพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศกว่า 20,000 ครั้ง ทรงเป็นองค์ประธานของโครงการการกุศลหลายร้อยโครงการ เช่น โครงการสนับสนุนให้นักเรียนอังกฤษทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูพระราชบุตรและพระราชธิดาทั้งสี่พระองค์ รวมถึงรัชทายาทอันดับหนึ่งอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
เจ้าชายฟิลิปประทับในโรงพยาบาลมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะทรงกลับมาประทับที่พระตำหนักวินเซอร์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม และสิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ ตามแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังอังกฤษ
เจ้าชายฟิลิปทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งเอดินบะระห์ในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเริ่มรัชกาลของพระองค์ในช่วงที่อังกฤษถอยบทบาทจากการเป็นเจ้าอาณานิคมเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่ที่อังกฤษมีบทบาทในเวทีโลกลดลง และประชาชนต่างคาดหวังในบทบาทการวางตัวของราชวงศ์มากขึ้น
สมเด็จพระราชินีนาถมักทรงรักษาความเป็นส่วนพระองค์ และมักไม่ทรงแสดงความรักใคร่อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะมากนัก พระองค์เคยทรงเรียกเจ้าชายฟิลิปว่า “ก้อนหิน (สิ่งยึดมั่น)ของฉัน” (my rock)ครั้งหนึ่งต่อสาธารณชน ส่วนในเวลาที่มีรับสั่งกันเป็นการส่วนพระองค์ เจ้าชายฟิลิปจะทรงเรียกสมเด็จพระราชินีนาถว่า “ลิลีเบ็ท” (Lilibet) แต่จะทรงเรียกพระองค์ขณะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้อื่นว่า “พระราชินี”
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของเจ้าชายฟิลิปเปลี่ยนจากนักกีฬาหนุ่มแน่นที่ทรงพระสิริโฉม เป็นเจ้าชายอารมณ์ร้ายที่แลดูไม่ทรงสนพระทัยในความรู้สึกผู้ฟังมากนั้น จนถึงช่วงบั้นปลายของพระชนม์ชีพ ที่ภาพลักษณ์ของพระองค์ดูเป็นเจ้าชายที่อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงแสดงความสนพระทัยในปรัชญา และยังทรงมีบุคลิกแบบนายทหารแม้จะทรงพระพระประชวรและมีพระชันษาที่สูงมากแล้วก็ตาม
ซีรีส์เรื่อง “เดอะ คราวน์” (The Crown) ทางเน็ตฟลิกซ์ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง วางบทเจ้าชายฟิลิปเป็นหนึ่งในตัวนำของเรื่อง โดยวางภาพลักษณ์ให้พระองค์ทรงมีพระบุคลิกเกเรและเหยียดเชื้อชาติเล็กน้อย โดยแม้เจ้าชายฟิลิปจะไม่เคยทรงรับสั่งถึงซีรีส์เรื่องนี้ แต่ “เดอะ คราวน์” ก็สร้างภาพจำของพระองค์ต่อชาวอังกฤษ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ก่อนหน้านี้มักรู้จักพระองค์ในฐานะเชื้อพระวงศ์ที่ทรงมีพระชันษาสูงเท่านั้น
บทบาทของเจ้าชายฟิลิปในราชวงศ์อังกฤษถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการกำหนดบทบาทของพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเป็นทางการ และบทบาทของพระองค์ในที่สาธารณะกับชีวิตส่วนพระองค์ก็แตกต่างกันอย่างมาก
เจ้าชายฟิลิปมักพระราชดำเนินตามหลังสมเด็จพระราชินีนาถสามก้าวในที่สาธารณะเพื่อแสดงความนับถือต่อองค์พระประมุข แต่ในชีวิตส่วนพระองค์นั้น ทรงมีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว อย่างไรก็ตาม รัชทายาทอันดับหนึ่งอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กลับทรงมีรายได้มากกว่า และทรงสามารถเข้าถึงเอกสารราชการระดับสูงที่เจ้าชายฟิลิปทรงไม่สามารถเข้าถึงได้
เจ้าชายฟิลิปเคยทรงมีรับสั่งว่า “ตามรัฐธรรมนูญแล้ว เราไม่มีตัวตน” พระองค์ยังเคยประทานบทสัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชันษาครบ 90 ปีว่า “ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีบทบาทแบบเรามาก่อน ถ้าเราถามใครซักคนว่า ‘คุณคาดหวังว่าเราต้องทำอะไร’ พวกเขาก็ดูไม่รู้เหมือนกัน”
แม้เจ้าชายฟิลิปจะทรงเลิกประกอบอาชีพในกองทัพเรือเพื่อทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเมื่อทรงมีพระชันษา ปี แต่เจ้าชายฟิลิปก็ยังคงทรงประกอบพระราชกรณียกิจรสนับสนุนอุตสาหกรรมและวงการวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ทรงสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมานาน และเสด็จประพาสไปตามที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการการกุศลของพระองค์
สาธารณชนมักจำภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะพระราชวงศ์ที่ทรงใจร้อน มักทรงเรียกร้อง และทรงมีรับสั่งตรงไปตรงมาจนบางครั้งแลดูไม่สุภาพ แม้ชาวอังกฤษบางส่วนจะชื่นชอบความตรงไปตรงมาของพระองค์ แต่บางส่วนก็วิจารณ์ว่าพระองค์ทรงมีพฤติกรรมก้าวร้าว
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีค.ศ. 1995 ทรงเคยมีรับสั่งถามครูสอนขับรถชาวสก็อตว่า “คุณทำอย่างไรให้ชาวสก็อตหยุดดื่มเหล้านานพอที่จะสอบขับรถผ่านได้” ต่อมาในปีค.ศ. 2002 ก็ทรงรับสั่งถามชาวพื้นเมืองอะบอริจินในออสเตรเลียว่า “พวกคุณยังเขวี้ยงหอกใส่กันรึเปล่า?”
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่เจ้าชายฟิลิปทรงมีความตรงไปตรงมาแสดงว่าทรงสามารถถวายคำแนะนำที่จำเป็นต่อสมเด็จพระราชินีนาถได้ ในขณะที่องค์พระประมุขของอังกฤษถูมักกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะทำตามพระกระแสรับสั่งเท่านั้น
โรเบิร์ต เลซีย์ นักประวัติศาสตร์ด้านพระราชวงศ์ ระบุว่า เจ้าชายฟิลิปทรงรับสั่งกับพระราชวงศ์ในฐานะผู้นำครอบครัวเมื่อครั้งที่เจ้าหญิงไดอานาทรงหย่าขาดจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โดยความสัมพันธ์ของเจ้าชายฟิลิปกับเจ้าหญิงไดอานาซับซ้อนขึ้นเมื่อการหย่าร้างของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานากลายเป็นสงครามผ่านสื่อ
เคยมีการคาดการณ์ว่า เจ้าชายฟิลิปทรงไม่พอพระทัยที่เจ้าหญิงไดอานาพระราชทานบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ รวมถึงบทสัมภาษณ์ที่ทรงกล่าวหาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ว่าทรงนอกพระทัยพระองค์ อย่างไรก็ตาม จดหมายระหว่างเจ้าชายฟิลิปและเจ้าหญิงไดอานาที่เผยแพร่หลังเจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ เผยให้เห็นว่าเจ้าชายฟิลิปทรงสนับสนุนพระสุณิสาในขณะนั้น
หลังเจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์จากเหตุรถชนเมื่อปีค.ศ. 1997 โมฮาเหม็ด อัล ฟาเยด เจ้าของห้างแฮร์รอดและบิดาของโดดิ ฟาเยด ผู้อยู่ในรถคันเดียวกับเจ้าหญิงไดอานาขณะเกิดเหตุและเสียชีวิตด้วยเช่นกัน กล่าวหาเจ้าชายฟิลิปว่าทรงวางแผนให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้นน อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาอาวุโสที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพบอกกับคณะลูกขุนว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว
ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ สมาชิกพระราชวงศ์ยังมีเรื่องราวความขัดแย้งมากมาย เช่น เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชบุตรของพระองค์ ที่ทรงพัวพันกับเจฟฟรีย์ เอพสตีน ผู้บริหารกองทุนชาวอเมริกันที่เสียชีวิตในคุกขณะรอการไต่สวนข้อหาค้าประเวณี โดยทางการสหรัฐฯ ระบุว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงไม่ให้ความร่วมมือในฐานะพยาน และหญิงคนหนึ่งกล่าวหาว่า ทรงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเธอหลายครั้งตามคำสั่งของเอพสตีน หลังจากนั้น เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล ก็ทรงประกาศว่าจะไม่ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะพระราชวงศ์และย้ายมาอยู่สหรัฐฯ
พระราชประวัติของเจ้าชายฟิลิป
เจ้าชายฟิลิปประสูติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1921 บนโต๊ะเสวยในที่ประทับในเกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ ทรงเป็นทายาทพระองค์ที่ห้า และเป็นพระราชบุตรพระองค์เดียวของเจ้าชายแอนดริว พระอนุชาของกษัตริย์แห่งกรีซ พระอัยกาของเจ้าชายฟิลิปเสด็จจากเดนมาร์กในช่วงทศวรรษที่ 1860 เพื่อมาทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์แห่งกรีซ
พระมารดาของพระองค์คือเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ก โดยทรงสืบเชื้อสายจากเจ้าชายเยอรมัน ทั้งเจ้าชายฟิลิปและสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง ต่างทรงเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทั้งสองพระองค์
เมื่อเจ้าชายฟิลิปทรงมีพระชันษา 18 เดือน พระบิดาและพระมารดาทรงย้ายที่ประทับไปที่ฝรั่งเศส เจ้าชายแอนดริวทรงถูกสอบสวนในฐานะผู้บังคับบัญชากองทัพบกหลังกองทัพกรีซพ่ายแก้ต่อตุรกี เจ้าชายแอนดริวไม่ทรงถูกพิพากษาประหารชีวิต หลังทางการอังกฤษเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลทหารของกรีซ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทรงออกจากกรีซไป
พระบิดาและพระมารดาทรงแยกทางกันเมื่อเจ้าชายฟิลิปยังทรงพระเยาว์ เจ้าชายแอนดริวสิ้นพระชนม์ที่มงเต-การ์โล ประเทศโมนาโก ส่วนเจ้าหญิงอลิซทรงก่อตั้งลัทธิทางศานาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนทรงใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่พระราชวังบัคกิงแฮมโดยไม่ทรงเผยพระองค์ในที่สาธารณะมากนัก เจ้าหญิงอลิซสิ้นพระชนม์เมื่อปีค.ศ. 1969 และได้รับเกียรติจากทางการอังกฤษและอิสราเอลหลังสิ้นพระชนม์ จากพระกรณียกิจที่ทรงดูแลครอบครัวชาวยิวครอบครัวหนึ่งในกรุงเอเธนส์ระหว่างที่ถูกนาซียึดครอง
เจ้าชายฟิลิปทรงรับการศึกษาในอังกฤษ และทรงเป็นนักเรียนนายร้อยในวิทยาลัยกองทัพเรือดาร์ทมัธเมื่อปีค.ศ. 1939 ทรงออกประจำการครั้งแรกในปีถัดมา แต่ทรงไม่ได้รับอนุญาตให้ประจำการใกล้เขตสงครามเนื่องจากทรงเป็นเจ้าชายจากประเทศที่เป็นกลางในสงคราม ต่อมาเมื่ออิตาลีบุกเข้ากรีซ จนทำให้กรีซเข้าร่วมสงคราม เจ้าชายฟิลิปก็ทรงเข้าร่วมรบบนเรือรบทั้งในมหาสมุทรอินเดีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหาสมุทรแปซิฟิค
ระหว่างช่วงพักผ่อนที่อังกฤษ เจ้าชายฟิลิปทรงเยี่ยมพระญาติในอังกฤษ และเมื่อสงครามสิ้นสุด ก็เป็นที่แน่ชัดว่าทรงต้องการสานสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชธิดาองค์โตและรัชทายาทของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทั้งสองพระองค์ทรงหมั้นกันในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 และทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน
แม้ในเบื้องต้นจะมีกระแสไม่เห็นด้วยที่รัชทายาทอันดับหนึ่งของบัลลังก์อังกฤษจะทรงเสกสมรสกับชาวต่างชาติ แต่ทักษะด้านกีฬา พระสิริโฉม และความตรงไปตรงมาของพระองค์ก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษได้
เจ้าชายฟิลิปและเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงมีพระธิดาหนึ่งพระองค์และพระบุตรหนึ่งพระองค์ ก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 จะสวรรคตจากโรคมะเร็งเมื่อปีค.ศ. 1952 ด้วยพระชนมายุ 56 พรรษา ทำให้เจ้าชายฟิลิปต้องทรงลาออกจากกองทัพเรือเพื่อทรงอยู่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเต็มตัว ทรงดูแลอสังหาริมทรัพย์ของพระราชวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วโลกเพื่อทรงสร้างบทบาทของพระองค์เอง
นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1956 ทรงเป็นองค์ประธานและองค์อุปภัมภ์ของโครงการรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระห์ (Duke of Edinburgh’s Award) ซึ่งเป็นโครงการกิจกรรมเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษและมีเครือข่ายในกว่า 100 ประเทศ โดยเป็นโครงการส่งเสริมกิจกรรม วัฒนธรรม และการผจญภัยของเยาวชน เจ้าชายฟิลิปยังทรงงานศิลปะสมัยใหม่ และทรงสะสมงานศิลปะ และทรงมีความสนพระทัยในการออกแบบอุตสาหกรรม และยังทรงออกแบบสวนในพระราชวังวินเซอร์ด้วย
ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้น เจ้าชายฟิลิปยังคงทรงกระฉับกระเฉงและมีพระพลานามัยแข็งแรง อย่างไรก็ตาม เมื่อทรงมีพระชันษา 90 พรรษาเมื่อปีค.ศ. 2011 เจ้าชายฟิลิปตรัสกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ทรงลดพระกรณียกิจลงและทรงเห็นว่าทรง “ทำงานในส่วนของพระองค์” ไปแล้ว
หลังจากนั้น เจ้าชายฟิลิปเสด็จประทับที่โรงพยาบาลบ้างเป็นครั้งคราว และทรงประกาศในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ว่า ทรงวางแผนงดประกอบพระกรณียกิจหลังทรงงานมาราว 22,000 ครั้งนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถทรงขึ้นครองราชย์ ต่อมาในปีค.ศ. 2019 ทรงยกเลิกใบขับขี่ส่วนพระองค์หลังเกิดเหตุรถชน
สำหรับสมาชิกในครอบครัวของพระองค์ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายแอนดรูว์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชนัดดาอีกแปดพระองค์ รวมทั้งเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮร์รี่ และพระราชปนัดดาอีกเก้าพระองค์